วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

โรคพืช

ความหมายของโรคพืช ในอดีตได้มีนักโรคพืชหลายท่านให้คำกำจัดความของคำว่าโรคพืช ( Plant Diseases ) แตกต่างกันหลายความหมายด้วยกันแต่ในปัจจุบันนี้นักโรคพืชต่างๆได้มีความคิดเห็นพ้องกันว่าโรคพืช หมายถึง การที่พืชมีความผิดปกติทางด้านสรีระจนทำให้พืชนั้นมีโครงสร้างทางสัณฐานเปลี่ยนแปลงไปโดยพืชจะแสดงอาการ ( symptom ) ให้เห็น ความผิดปกตินั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่พืชทางด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยที่สาเหตุอาจจะเกิดจากสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ได้ในการพิจารณาเพื่อตัดสิน การเป็นโรคของพืชมักจะเน้นที่อาการที่เกิดขึ้นนั้นว่าทำให้คุณค่าทางเศรษฐกิจของพืชลดลงหรือไม่ถ้าอาการผิดปกตินั้นมีผลทำให้คุณค่าทางเศรษฐกิจของพืชผลนั้นลดลงก็ถือว่าเป็นโรคพืชดังตัวอย่างเช่นราดำที่เกาะอยู่ตามผิวใบพืชและผิวของผลไม้ เชื้อราตัวนี้ไม่ได้เล็ดลอดเข้าไปในเนื้อเยื่อพืชและไม่ได้ดูดกินน้ำเลี้ยงของพืช แต่เชื้อรานี้มีผลทางอ้อมต่อพืชโดย ไปบังแสงให้พืชได้รับแสงน้อยลง เป็นเหตุให้การสังเคราะห์แสงของพืชลดลง นอกจากนี้เชื้อราที่เกาะอยู่ตามผิวของผลไม้ ทำให้ผิวผลไม้ มีสีดำสกปรก ไม่น่ารับประทาน ผลผลิตนั้นย่อมจะขายได้ในราคาต่ำลง ดังนั้นย่อมถือว่า เป็นโรคพืชได้ ในทางตรงกันข้ามเชื้อแบคทีเรีย Rhizobium spp.ที่เข้าไปอาศัยในรากของพืชตระกูลถั่ว ทำให้รากถั่วมีอาการเป็นปม แต่แทนที่ต้นถั่วจะมีผลผลิตลดลง กลับมีผลผลิตเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากแบคทีเรียช่วยตรึงก๊าซไนโตรเจนจากอากาศให้กับรากถั่ว เราก็ถือได้ว่า ต้นถั่วไม่เป็นโรค
เชื้อโรคทำให้เกิดโรคได้อย่างไร ? 1. แย่งอาหาร 2. ฆ่าหรือขัดขวางขบวนการ metabolism 3. ขัดขวางการลำเลียงน้ำและอาหาร 4. ดูดกินองค์ประกอบของเซลล์โดยตรง
สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดโรคได้หรือไม่ ? เฉพาะสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนจากสภาพปกติค่อนข้างมาก ( too extreme ) จะมีผลต่อกิจกรรมปกติของพืช
โรคพืชมีกี่ประเภท ? โรคพืชแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ I. โรคติดเชื้อ (Infectious, or Biotic Plant Diseases) ได้แก่ 1. โรคที่เกิดจากเชื้อรา (fungal disease) 2. โรคที่เกิดจากโปรคาริโอต (Prokaryote disease) 3. โรคที่เกิดจากไวรัสและไวรอยด์ (Viral and viroid disease) 4. โรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย (Nematode disease) 5. โรคที่เกิดจากโปรโตซัว (Protozoa disease) 6. โรคที่เกิดจากกาฝาก (Higher parrasitic plant disease)
โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา Plant Diseases Caused by Fungi เชื้อรา เป็นจุลชีพในกลุ่ม Eukaryote โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นเส้นใยแตกกิ่งก้านได้โดยแต่ละเส้นใยเรียกว่า hypha ซึ่งมักรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เรียกว่า mycelium เชื้อรามีลักษณะแตกต่างจาก algae ตรงที่ไม่มี chlorophyll เป็นองค์ประกอบภายในเซลล์ ผนังเซลล์ของเชื้อราส่วนใหญ่มี cellulose, chitin หรือทั้ง 2 อย่างเป็นองค์ประกอบสำคัญ เส้นใยของเชื้อราอาจแบ่งออกเป็นช่อง ๆ ด้วยเส้นกั้นแบ่งเซลล์ (septa) ภายในแต่ละช่องอาจมี nucleaus เพียง 1 อัน หรือมากกว่า 1 อันก็ได้ แต่ราบางชนิดเส้นใยไม่มีผนังกั้นระหว่างเซลล์ (coenocytic hypha) โดยทั่วไปเชื้อราจะแพร่พันธุ์โดยหน่วยขยายพันธุ์เรียกว่า สปอร์ (spores) ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. Asexual spores : เป็นหน่วยขยายพันธุ์ที่เกิดจากการแบ่งเซลล์ และแปรเปลี่ยนรูปร่างจาก vegetative cells โดยไม่มีการผสมพันธุ์ทางเพศ สปอร์ชนิดนี้อาจสร้างขึ้นบนเส้นใยธรรมดา โดยส่วนหนึ่งของเส้นใยเปลี่ยนไปเป็นก้านชูสปอร์ (conidiophore) และเรียกสปอร์นั้นว่า conidia สปอร์บางชนิดจะสร้างอยู่ในถุงหุ้ม เรียกว่า sporangium บางชนิดอาจสร้างอยู่ในอวัยวะรูปร่างคล้ายถ้วยหรือคนโฑ เรียกว่า pycnidia เชื้อราหลายชนิดอาจเปลี่ยนบางส่วนของเส้นใยให้มีผนังหนาขึ้น โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น สปอร์ที่เกิดในลักษณะนี้ เรียกว่า chlamydospores 2. Sexaul spores : เป็นหน่วยขยายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ทางเพศระหว่างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย (female gametangia) กับเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (male gametangia) เกิดเป็นไซโกตที่มีชื่อเรียก ต่าง ๆ กัน การจัดแบ่งกลุ่มของเชื้อราโดยทั่วไปใช้ลักษณะของการผสมพันธุ์ทางเพศ และชนิดของ สปอร์ที่สร้างขึ้นเป็นหลักในการจัดแบ่ง คือกลุ่มที่สร้างสปอร์จากการผสมพันธุ์กันของเซลล์สืบพันธุ์ที่มีลักษณะเหมือนกันเกิดเป็น Z ygospore คือ class Zygomycetes , กลุ่มที่เซลล์สืบพันธุ์มีขนาดต่างกันและสร้าง Oospores จัดอยู่ใน class Oomycetes กลุ่มที่สร้างสปอร์ในถุงหุ้ม (ascospores) จัดอยู่ใน Class Ascomycetes และกลุ่มที่สร้างสปอร์บนก้านชูรูปกระบอง (basidiospores) จัดอยู่ใน class Basidiomycetes


เชื้อราสาเหตุของโรคพืชที่มีความสำคัญในประเทศไทย เชื้อราจัดเป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคพืช เนื่องจากมีเชื้อรามากกว่า 8,000 ชนิด ที่สามารถทำให้เกิดโรคกับพืชได้ สำหรับในประเทศไทยพบว่า ราใน class เหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของโรคพืช 1. Class Zygomycets เป็นเชื้อราชั้นต่ำในกลุ่ม Phycomycetes มีลักษณะสำคัญคือ เส้นใยเป็นแบบ coenocytic สร้าง asexual spores ที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ในถุงหุ้ม เรียกว่า sporangium และเรียกสปอร์ว่า sporangiospore สร้าง sexual spore ชนิด zygospore ตัวอย่างของโรค ได้แก่ โรคส่าขนุนเน่า จากเชื้อ Rhizopus sp. โรคดอกเน่าของแตงชนิดต่าง ๆ จากเชื้อ Choanephora cucurbitarum 2. Class Oomycetes เป็นเชื้อราในกลุ่มเดียวกันกับ Zygomycetes ลักษณะทั่วไปคล้ายกับ zygomycetes ยกเว้น asexual spores เป็นชนิดที่ว่ายน้ำได้ (zoospore) และสร้าง sexual spores จากการผสมกันของ oogonium และ antheridium ซึ่งมีขนาดต่างกัน เรียกว่า oospores เชื้อราใน class นี้มีหลายชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น โรคราสนิมขาว (white rust) ของผักชนิดต่าง ๆ ที่เกิดจากเชื้อ Albugo spp. , โรคราน้ำค้าง (downy mildews), โรคกล้าเน่า (damping off) จากเชื้อ Pythium spp. ,โรคไหม้ในมันฝรั่ง (potato late blight) จากเชื้อ Phytophthora infestans เป็นต้น 3. Class Ascomycetes เป็นเชื้อราชั้นสูงแบ่งออกได้เป็นหลาย families ตามลักษณะของอวัยวะขยายพันธุ์ ลักษณะที่สำคัญของราใน class นี้คือสร้าง sexual spores ในถุงหุ้มมีจำนวนตั้งแต่ 2-8 สปอร์ซึ่งเรียกว่า ascospores เชื้อราใน class นี้จัดว่าเป็น class ที่สำคัญที่สุด เนื่องจากทำความเสียหายให้กับพืชเศรษฐกิจหลายชนิด สำหรับในประเทศเขตร้อนมักไม่พบ sexual stage แต่จะพบ asexual spores ซึ่งเมื่อนำมาเลี้ยงบนพืชหรือภายใต้สภาพการเลี้ยงที่เหมาะสมสามารถกระตุ้นให้เชื้อสร้าง ascocarp และ ascospore ได้ กรณีที่ตรวจไม่พบ sexual stage จะนิยมใช้ชื่อใน form class Deuteromycete แทน ตัวอย่างของโรคที่พบในไทย ได้แก่ โรคเถาแตกยางไหล (gummy stem blight) ในแตงที่เกิดจากเชื้อ Didymella bryoninae
4. Class Basidiomycetes เป็นเชื้อราชั้นสูงแบ่งออกได้เป็นหลาย families มีลักษณะที่สำคัญคือสร้าง sexual spores ลักษณะคล้ายหยดน้ำตาเรียกว่า basidiospore บนก้านชูรูปกระบอง เรียกว่า basidium ซึ่งอาจสร้างขึ้นบนเส้นใยโดยตรงหรือในอวัยวะที่เกิดจากการรวมตัวของเส้นใยเป็นรูปร่างต่าง ๆ กัน เช่น ดอกเห็ด อวัยวะดังกล่าวเรียกว่า basidiocarp เชื้อราใน class นี้ส่วนใหญ่เป็นประโยชน์ คือใช้เป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์หลายชนิด ทำหน้าที่ย่อยสลายเศษซากพืชเพื่อปลดปล่อยธาตุอาหารกลับสู่วงจรการใช้อาหาร แต่ก็มีหลายชนิดที่จัดเป็นศัตรูพืชที่ร้ายแรง ตัวอย่างเช่น เชื้อที่ทำให้เกิดโรคราสนิม (rust) , โรคราเขม่าดำ (smut), โรคราเม็ดผักกาด (sclerotium stem rot) , โรคกาบใบแห้งของข้าว (Rhizoctonia sheath blight) เป็นต้น การวินิจฉัยสาเหตุของโรคที่เกิดจากเชื้อใน class นี้นอกจากจะตรวจดูจากลักษณะของสปอร์ หรือ resting stracture เช่น เม็ด sclerotium ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมคล้ายเมล็ดผักกาดแล้ว ยังอาจพิจารณาดูจากลักษณะของเส้นใยที่มักมี clamp connection เชื่อมระหว่างเซลล์ที่อยู่ติดกัน 5. Form-class Deuteromycetes เชื้อราใน form-class นี้คือเชื้อราในระยะที่ยังตรวจไม่พบลักษณะการขยายพันธุ์แบบใช้เพศ การจัดแบ่งจึงถือเป็นการชั่วคราว อาจเรียกเป็น form class Imperfect fungi ก็ได้ เนื่องจากใช้เฉพาะลักษณะของ asexual stage เป็นหลักในการแบ่งแยก ปัจจุบันพบว่าเชื้อราส่วนใหญ่ที่ได้ให้ชื่อในระยะ asexual stage นั้นเป็นเชื้อราใน class Ascomycetes มีบางส่วนเป็นราใน class Basidiomycetes และมีน้อยชนิดมากที่อยู่ใน class Zygomycetes หรือ Oomycetes สำหรับในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเขตร้อนนั้น เชื้อราส่วนใหญ่โดยเฉพาะ Ascomycetes มักไม่มี sexual stage เนื่องจากไม่มีความจำเป็นที่เชื้อจะต้องอยู่ข้ามฤดูหนาว ชื่อเชื้อราที่ใช้หรือที่รู้จักจึงเป็นชื่อใน form class Deuteromycetes ซึ่งอาจจัดแบ่งเป็นอันดับ (order) ได้ดังนี้ 5.1 Hyphales (Moniliales) คือเชื้อราที่สร้าง asexual spores บนหรือระหว่างเส้นใยธรรมดา โดยไม่มีอวัยวะพิเศษ ตัวอย่างของเชื้อได้แก่ เชื้อโรคราแป้ง (Oidium, Oidiopsis, Ovuliopsis) เชื้อ Cercospora (สาเหตุโรคใบจุดตากบของพืชหลายชนิด) เชื้อ Pyricularia (สาเหตุโรคใบไหม้ของข้าว) เป็นต้น 5.2 Sphaeropsidales เป็นเชื้อที่สร้าง asexual spores ในอวัยวะที่เกิดจากการอัดตัวกันแน่นของเส้นใยมีลักษณะเป็นรูปคนโฑ (pycnidia) ตัวอย่างได้แก่ Ascochyta สาเหตุโรคใบไหม้, ใบจุดของพืชหลายชนิด , Diplodia (สาเหตุโรคลำต้นแห้ง , กิ่งแห้ง) Phyllosticta สาเหตุโรคใบจุดของพืชหลายชนิด, Phoma, Phomopsis สาเหตุโรคลำต้นเน่าของผัก และไม้ยืนต้นหลายชนิด 5.3 Melanconiales เชื้อสร้าง asexual spores ในอวัยวะรูปร่างคล้ายถ้วยปากกว้าง (acervulus) ตัวอย่างเช่น เชื้อ Colletotrichum สาเหตุของโรคอีบุบ (anthracnose) เชื้อ Marssonina สาเหตุโรคใบจุดดำของกุหลาบ เป็นต้น
5.4 Myceliales หรือ Mycelia Sterilia (sterile fungi) เป็นเชื้อที่ไม่พบการสร้าง asexual spores ที่มีลักษณะต่างไปจากเส้นใยปกติ การอยู่ข้ามฤดูจะสร้างโครงสร้างพิเศษเรียกว่า sclerotia ซึ่งเกิดจากกลุ่มเส้นใยที่มาอัดตัวกันแน่นลักษณะคลายเมล็ดผักกาด ตัวอย่างเช่น เชื้อ Sclerotium สาเหตุโรครากและโคนเน่าของพืชหลายชนิด เชื้อ Rhizoctonia สาเหตุโรคโคนเน่า เป็นต้น
หลักการวินิจฉัยโรคที่เกิดจากเชื้อรา การวินิจฉัยโรคที่เกิดจากเชื้อราส่วนใหญ่ดูจากอาการประกอบกับการตรวจหาร่องรอย (sign) ของเชื้อบนส่วนของพืชที่แสดงอาการ การตรวจหา sign อาจใช้แว่นขยายหรือกล้องสเตอริโอสโคป เป็นการตรวจเบื้องต้น ซึ่งหากผู้ตรวจมีความชำนาญอาจบอกได้เลยว่าโรคเกิดจากเชื้ออะไร สำหรับอาการที่พบว่าเกิดจากเชื้อรา ได้แก่ อาการใบจุด (leaf spot) ใบไหม้ (leaf blight) ยอดไหม้ (die back) , กิ่งแห้ง (twig blight) , อีบุบ (anthracnose) กล้าล้ม (damping off), รากและโคนเน่า (root and stalk rot), ต้นโทรม (decline), แผลสะเก็ด (scab) และเหี่ยวเฉา (wilt), เป็นต้น โรคบางชนิดเชื้อสาเหตุจะขึ้นปกคลุมบริเวณที่แสดงอาการทำให้เห็นเด่นชัดกว่าอาการ ตัวอย่างเช่น โรคราสนิม, ราน้ำค้าง , ราแป้ง โรคเหล่านี้สามารถวินิจฉัยได้ง่ายโดยดูเฉพาะเพียง sign ที่เชื้อสร้างขึ้นเท่านั้น
โรคพืชที่เกิดจากเชื้อโปรคารีโอตส์ Plant Diseases Caused by Prokaryotes
เชื้อโปรคารีโอตส์ หมายถึง จุลจีพที่มีลักษณะเป็นเซลล์เดี่ยว ห่อหุ้มด้วยเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) หรือ เยื่อหุ้มเซลล์และผนังเซลล์ (cell wall) มี ribosomes ขนาด 70 S ไม่มี nuclear membrane ห่อหุ้ม DNA จุลชีพเหล่านี้ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชได้แก่ แบคทีเรีย และ mollicutes หรือมายโคพลาสมาของพืช ชนิดแรกเป็นโปรคารีโอตส์ที่มีทั้งเยื่อหุ้มเซลล์และผนังเซลล์ขณะที่เชื้อชนิดหลังจะมีเฉพาะเยื่อหุ้มเซลล์
การจำแนกชนิดของโปรคารีโอตส์สาเหตุโรคพืชปัจจุบันพบว่ามีแบคทีเรียจำนวน 7 genera และ มายโคพลาสมา 2 ตระกูล ที่สามารถทำให้เกิดโรคกับพืช ซึ่งมีลักษณะโดยสังเขปดังนี้ แบคทีเรีย : แบคทีเรียสาเหตุโรคพืชส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่แบบ fucultative saprophytes จึงสามารถนำมาแยกเชื้อบริสุทธิ์และเลี้ยงให้เจริญบนอาหารเลี้ยงเชื้อได้ การเรียกชื่อแบคทีเรียเหล่านี้ปัจจุบันนิยมใช้ระบบ Trinomial nomenclature คือประกอบด้วยชื่อ genus + species + pathovar ชื่อหลังสุดนิยมใช้ชื่อพืชอาศัยของเชื้อชนิดนั้น ๆ เชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคพืชเกือบทั้งหมดเป็นเชื้อแกรมลบ (Gram negative) ยกเว้นเชื้อ Clavibacter (Corynebacterium ) และ Streptomyces ซึ่งเป็นเชื้อแกรมบวก
เชื้อแกรมลบ 1. Pseudomonas ลักษณะเซลล์เป็นแท่งขนาด 0.5-1 1.5-4 เคลื่อนที่ได้ด้วย polar lagella 1 หรือมากกว่า 1 เส้นแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่สร้างสีเรืองแสงละลายน้ำได้ (diffusible fluorescent pigment) ตัวอย่างเช่น P. syringae pv. glycinea สาเหตุโรคใบไหม้ของถั่วเหลือง และกลุ่มที่ไม่สร้างสารเรืองแสง ตัวอย่างเช่น Pseudomonas corrugata สาเหตุโรคไส้ดำ (pith necrosis) ของมะเขือเทศ 2. Xanthomonas ลักษณะเซลล์คล้ายกับ Pseudomonas แต่มี flagella เพียงเส้นเดียว, ลักษณะสำคัญคือ โคโลนีมีสีเหลืองเมื่อเจริญบนอาหารเลี้ยงเชื้อ และเป็นเม็ดสีไม่ละลายน้ำ (nondiffusible) ทุก species สามารถทำให้เกิดโรคกับพืชได้ยกตัวอย่างเช่น X. campestris pv. vesicatoria สาเหตุโรคใบจุดของมะเขือเทศและพริก 3. Erwinia เซลล์เป็นท่อนตรงขนาด 0.5-1 1-3 เคลื่อนที่ด้วย flagella ที่อยู่รอบเซลล์ (peritrichous flagella) มีหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคพืชซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่ม amylovora เป็นกลุ่มที่ไม่สร้างเอ็นไซม์ pectolytic พวกนี้ทำให้พืชแสดงอาการเนื้อเยื่อตายหรือเหี่ยวเฉาตัวอย่างเช่น E. amylovora สาเหตุโรคไหม้ของพืชตระกูลแอปเปิล กลุ่ม carotovora เป็นกลุ่มที่สร้าง pectolytic enzyme ที่ทำให้เกิดอาการเน่าเละ ตัวอย่างเช่น E. carotovora pv. carotovora 4. Agrobacterium เซลล์เป็นท่อนขนาด 0.8 1.5-3 เคลื่อนที่ด้วย flagella ที่อยู่รอบเซลล์เช่นกัน โคโลนีใสไม่มีสีและมักสร้างเมือกจำนวนมาก มักอาศัยอยู่ในดินรอบ ๆ รากพืช ตัวอย่างเช่น A. tuamefaciens สาเหตุโรค crown gall ของพืชหลายชนิด 5. Xylella เป็นแบคทีเรียที่เพิ่งมีการค้นพบว่าสามารถทำให้เกิดโรคกับพืชได้ ลักษณะเป็นเซลล์เดี่ยวขนาด 0.3 1-4 มักต่อกันเป็นสายยาวในอาหารเลี้ยงเชื้อบางชนิด ไม่มี flagella ไม่สร้างสีเจริญได้ยากในอาหารเลี้ยงเชื้อ (fastidious) เข้าทำลายท่อน้ำ (Xylem) ของพืชหลายชนิด ตัวอย่างเช่น Xylella fastidiosa สาเหตุโรคขอบใบแห้งขององุ่น (Pierce’s Disease) เชื้อในกลุ่มนี้เคยมีชื่อว่า Rickettsia-like organism. 6. Acidovorax จัดเป็นเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคพืชจีนัสใหม่ ซึ่งถูกแยกออกจาก จีนัส Pseudomonas เนื่องจากมีลักษณะหลายประการต่างไปจาก Pseudomonas เช่น สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพที่ค่อนข้างเป็นกรดมี flagella เพียง 1 เส้นบริเวณปลายเซลล์ และมีลำดับนิวคลีโอไทด์ของ 16 S ribosomal RNA ต่างจาก Pseudomonas ตัวอย่างเช่น สาเหตุโรคพืชที่สำคัญคือ Acidovorax avenae citrulli ที่ทำให้เกิดโรคผลช้ำ (fruit blotch) ในแตงโม ซึ่งในอดีตเคยเรียกว่า P. citrulli 7. Ralstonia จัดเป็นเชื้อสาเหตุโรคพืชจีนัสใหม่เช่นกัน แต่เดิมเคยได้รับการจัดแบ่งอยู่ใน จีนัส Pseudomonas เนื่องจากมีลักษณะทางสันฐานวิทยาคล้ายกันกับเชื้อ Pseudomonas เกือบทุกประการ แต่เมื่อได้มีการศึกษารายละเอียดองค์ประกอบของ 16S ribosomal RNA พบว่าต่างจาก Pseudomonas จึงได้รับการตั้งชื่อใหม่เป็น Ralstonia ตัวอย่างสาเหตุโรคพืชที่สำคัญคือ R. solanacearum ที่ทำให้เกิดโรคเหี่ยวเขียว (bacterial wilt) ในมะเขือเทศ
เชื้อแกรมบวก 1. Streptomyces เซลล์มีลักษณะต่างจากแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ คือ มีลักษณะเป็นท่อนยาวแตกกิ่งก้านได้คล้ายเส้นใยของเชื้อราแต่ไม่มีผนังกั้นเซลล์ เมื่อแก่จะสร่างสปอร์มีลักษณะเป็นท่อนสั้น ๆ ต่อกันเป็นสายชูขึ้นบนอากาศ โคโลนีที่เจริญบนอาหารเลี้ยงเชื้อมีลักษณะเป็นผง ขนาดประมาณ 1-10 มม. ตัวอย่างเช่น Streptomyces scabies สาเหตุโรคแผลแตกบนหัวมันฝรั่ง (potato scab) 2. Clavibacter (Corynebacterium ) เซลล์ลักษณะเป็นท่อนตรงหรือโค้งเล็กน้อย ส่วนปลายเซลล์ด้านใดด้านหนึ่งโป่งพองกว่าปกติทำให้มีลักษณะคล้ายไม้กระบอง ขนาด 0.5-0.9 1.5-4 เวลาย้อมสีมักติดสีไม่สม่ำเสมอทั้งเซลล์ตัวอย่างเช่น C. michiganense pv. michiganense สาเหตุโรคแคงเกอร์ในมะเขือเทศ (tomato canker) เชื้อชนิดนี้เคยได้รับการจัดไว้ใน genus Corynebacterium ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาเหตุของโรคในมนุษย์และสัตว์ ปัจจุบัน Clavibacter ถูกแยกออกเป็น genus ต่างหากเนื่องจากมีลักษณะองค์ประกอบของ cell wall ต่างจาก Corynebacterium และส่วนใหญ่เป็นสาเหตุของโรคพืช
Mollicutes: โมลิคิวเตส คือกลุ่มโปรคารีโอตส์ที่เซลล์ห่อหุ้มด้วยเยื่อหุ้มเซลล์โดยไม่มีผนังเซลล์ เชื้อในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเจริญในอาหารเลี้ยงเชื้อธรรมดาได้ยาก เป็นเชื้อที่ทนยาเพนนิชซิลิน แต่อ่อนแอต่อเตตราไซคลิน หรือเสตรปไตโมซิน 1. Phytoplasma เชื้อชนิดนี้ในอดีตใช้ชื่อว่า mycoplasmalike organism (MLO) เซลล์มีลักษณะหลายรูป (pleomorphic) คืออาจเป็นทรงกลม เป็นท่อน หรือเป็นเส้นใยสั้น ๆ ขนาดตั้งแต่ 1-150 เชื้อในกลุ่มนี้เจริญในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ยาก การแพร่ระบาดส่วนใหญ่อาศัยแมลงเพลี้ยจักจั่นเป็นพาหะ ตัวอย่างได้แก่ ไฟโตพลาสมาโรคใบขาวของอ้อย โรคงาตัวผู้ เป็นต้น 2. Spiroplasma เป็นเชื้อที่มีรูปร่างค่อนข้างคงที่คือเป็นท่อนเกลียวคล้ายดอกสว่าน สามารถเคลื่อนที่ได้โดยบิดตัวไปมา เป็นเชื้อที่เข้าทำลายท่ออาหาร (phloem) เช่นเดียวกับ mycoplasma ตัวอย่างเช่นโรคโทรมในพืชตระกูลส้ม (stubborn disease of citrus) ซึ่งเกิดจากเชื้อ S. citri
อาการของโรคที่เกิดจากเชื้อโปรคารีโอตส์ 1. อาการเน่าเละ (soft rot) เกิดจากการแตกสลายของเนื้อเยื่อโดยการเข้าทำลายของเชื้อแบคทีเรียที่สร้าง pectolytic enzyme ตัวอย่างเช่น Erwinia carotovora pv. carotovora หรือ Pseudomonas marginalis อาการประเภทนี้มักเกิดกับพืชอวบน้ำ เช่น ผักชนิดต่าง ๆ 2. อาการใบจุด (leaf spot) เกิดจากการตายของเนื้อเยื่ออย่างมีขอบเขตจำกัด แผลอาจมีรูปร่างกลม หรือเป็นเหลี่ยม (angular leaf spot) เนื่องจากขอบเขตถูกจำกัดด้วยเส้นใบ อาการใบจุดที่เกิดจากแบคทีเรียมักมีลักษณะฉ่ำน้ำโดยเฉพาะบริเวณโดยรอบแผล ซึ่งเป็นลักษณะที่ใช้แยกความแตกต่างจากแผลที่เกิดจากเชื้อราได้ อาการใบจุดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ Xanthomonas และ Pseudomonas 3. อาการไหม้ (blight) เกิดจากการตายของเนื้อเยื่อโดยไม่มีขอบเขตจำกัด ในระยะแรกของการแสดงอาการอาจเรียกอาการใบจุดได้เช่นกัน อาการไหม้อาจลุกลามไปยังกิ่งหรือยอดได้ด้วยเชื้อที่ทำให้เกิดอาการไหม้ ได้แก่ เชื้อ Xanthomonas , Pseudomonas และ Erwinia amylovora 4. อาการตุ่มแตก (canker) เกิดจากการตายของเนื้อเยื่อร่วมกับการสร้างคอร์กขึ้นปกคลุมบริเวณแผล อาจรวมถึงอาการที่เกิดจากการปริแตกของเนื้อเยื่อ ตัวอย่างเช่น โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้มที่เกิดจาก Xanthomonas campestris pv. citri 5. อาการปุ่มปม (gall) เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์มากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจาก auxins ที่เชื้อกระตุ้นให้พืชสร้างขึ้นบริเวณที่ถูกเข้าทำลาย ตัวอย่างเช่น โรค crown gall ที่เกิดจาก Agrobacterium tumefaciens 6. อาการเหี่ยวเฉา (wilt) เกิดจากการที่เชื้อเข้าไปเจริญอยู่ในท่อน้ำของพืช (xylem) ทำให้ท่อน้ำอุดตันตัวอย่างเช่น โรคเหี่ยวเขียวในมะเขือเทศจากเชื้อ Ralstonia (Pseudomonas) solanacearum 7. อาการแตกพุ่มแจ้ (witches’ broom หรือ phyllody) เป็นอาการที่เกิดจากเชื้อ phytoplasma โดยเฉพาะพืชจะมีข้อ-ปล้องสั้นลงและแตกใบเป็นกระจุกบริเวณส่วนยอด อาการ witches’ broom ใช้ในกรณีที่เป็นตาใบ ส่วน phyllody ใช้เรียกอาการที่เกิดกับตาดอก 8. อาการแคระแกรน (stunt) เป็นอาการที่เกิดจาก phytoplasma เช่นเดียวกันตัวอย่างเช่น โรค corn stunt ที่เกิดจาก Spiroplasma citri 9. อาการใบซีด (chlorosis) เกิดขึ้นเนื่องจากเชื้อ phytooplasma เข้าไปเจริญในท่ออาหาร ส่งผลให้พืชสร้าง chlorophyll ได้น้อยลง ตัวอย่างเช่น โรคใบขาวในอ้อย หรือโรคใบสีแสดของข้าว
การวินิจฉัยโรคที่เกิดจากโปรคารีโอตส์ 1. โดยดูจากลักษณะอาการ: อาการพุ่มแจ้, แคระแกรน หรือใบซีดนั้น อาจบอกได้ทันทีว่าเกิดจากเชื้อ mycoplasma หลังจากทดสอบ tetracycline sensitivity ถ้าเป็นอาการไหม้หรือใบจุดจะต้องสังเกตจากลักษณะฉ่ำน้ำบนแผล 2. โดยตรวจดู sign ของเชื้อ : การตรวจหา bacterial ooze จากแผลจุด, ไหม้ หรือ bacterial stream จากอาการเหี่ยว จะช่วยให้แยกแยะโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจากโรคที่เกิดจากเชื้อรา หรือสาเหตุอย่างอื่นได้ ตัวอย่างของโรคที่เกิดจากเชื้อโปรคารีโอตส์ โรคเน่าเละของผัก (Soft rot of vegetables) โรคเน่าเละของผัก อาจเกิดขึ้นได้กับผักที่ยังอยู่ในแปลง และในระยะหลังเก็บเกี่ยว แต่มักพบเป็นปัญหาเฉพาะกับผักในระยะหลังเก็บเกี่ยว เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับผักอวบน้ำทุกชนิด ตัวอย่างเช่น ผักกาด, กะหล่ำปลี, หัวผักกาด รวมไปถึงแตงชนิดต่าง ๆ และพริกด้วย ลักษณะอาการที่สำคัญคือ พืชจะเน่าอย่างรวดเร็ว มักมีน้ำเยิ้มออกจากบริเวณที่เน่า และมีกลิ่นเหม็น โรคจะเกิดรุนแรงในระยะที่อากาศร้อน, ชื้น และมีแผลเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อพืช สาเหตุของโรคคือ Erwinia carotovora pv. carotovora การป้องกันกำจัด: การรักษาความสะอาดนับเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคเน่าเละ ควรล้างผักด้วยน้ำประปาก่อนนำส่งตลาดระวังอย่าให้ผักช้ำ ไม่ควรสุมผักรวมกันเพราะจะทำให้อุณหภูมิและความชื้นสูง การใช้ปูนแดงทาบริเวณรอยตัด จะช่วยป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อได้ ควรเก็บผักไว้ในที่เย็น
โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม (Citrus canker) โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม นับเป็นโรคที่มีความสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของส้ม และมะนาว พบระบาดอยู่ในทุกแหล่งปลูกทั่วโลก ลักษณะของอาการเป็นแผลนูนเกิดขึ้นตามใบ, กิ่ง และผล ถ้าเกิดที่กิ่งมักทำให้เกิดอาการยอดไหม้ (die back) ใบและผลที่เป็นโรคมักร่วงก่อนกำหนด โรคจะระบาดรุนแรงในฤดูฝนหรือในสวนที่มีการให้น้ำแบบ sprinker และมีการเข้าทำลายของแมลงวันหนอนชอนใบส้มร่วมด้วย สาเหตุของโรคคือ Xanthomonas campestris pv. citri การป้องกันกำจัด : เลือกใช้กิ่งพันธุ์ที่ปราศจากโรค ดูแลตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคทำลายทิ้ง กรณีที่โรคระบาดรุนแรง ควรฉีดพ่นด้วยสาร คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ หรือ คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ หรืออกริมัยซิน หลังการตัดแต่งกิ่ง ระวังอย่าให้มีการระบาดของหนอนชอนใบ หลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบ sprinker
โรคเหี่ยวเขียวของมะเขือเทศ (Bacterial wilh of tomato) โรคเหี่ยวเขียวของมะเขือเทศ เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อ Ralstonia (Pseudomonas) solanacearum จัดเป็นโรคที่มีความสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของมะเขือเทศ เชื้อชนิดนี้นอกจากเข้าทำลายมะเขือเทศแล้วยังอาจเข้าทำลาย พริก, มันฝรั่ง กล้วย, ขิงและพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกหลายชนิด เชื้อชนิดนี้ปกติจะอาศัยอยู่ในดินและเข้าทำลายพืชทางราก เมื่อเข้าสู่รากพืชได้แล้วจะเข้าไปเจริญอยู่ในท่อน้ำ (Xylem) ทำให้เกิดการตาย และการอุดตันของเนื้อเยื่อท่อน้ำทำให้พืชเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด ถ้านำพืชที่เหี่ยวมาตัดขวางบริเวณลำต้นจะพบว่าเนื้อเยื่อบริเวณท่อน้ำเปลี่ยนเป็นสีดำหรือน้ำตาล และเมื่อนำไปจุ่มน้ำจะพบ bacterial stream ไหลออกจากบริเวณรอยตัด ข้อสังเกตนี้ใช้แยกอาการเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum หรืออาการเหี่ยวเหลืองที่เกิดจากเชื้อรา Sclerotium rolfsii การป้องกันกำจัด : ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถป้องกันการเกิดโรคเหี่ยวเขียวได้ 100% อย่างไรก็ตามการหลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่เคยเกิดโรคจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคลงได้ ในบางกรณีการใช้ต้นตอของพืชที่ทนโรคเช่น มะแว้ง หรือมะเขือพวง อาจให้ผลคุ้มค่ากับการลงทุน ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไส้เดือนฝอย การใช้สารฆ่าไส้เดือนฝอยสามารถลดความรุนแรงของโรคเหี่ยวเขียวลงได้บ้าง
โรคใบขาวของอ้อย (Sugarcane white leaf) โรคใบขาวของอ้อยนับเป็นโรคที่มีความสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของอ้อย อาการที่พบทั่วไปคือใบมีสีซีด, แตกกอเป็นกระจุก และแคระแกรน มักเกิดขึ้นในปีที่ 2 หลังปลูกคือเกิดกับอ้อยตอเป็นส่วนใหญ่ ความเสียหายจึงเกิดจากการที่ต้องเปลี่ยนตอแทนที่จะตัดอ้อยได้ 3 ปีติดต่อกันทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย สาเหตุของโรคคือเชื้อ Phytoplasma ที่มีเพลี้ยจั๊กจั่น Matsumatettrix hygrosiphicus เป็นแมลงพาหะ การป้องกันกำจัด : เลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่ปราศจากโรค โดยเตรียมแปลงขยายพันธุ์ที่ให้การดูแลอย่างดี, กำจัดต้นที่เป็นโรคทิ้งเพื่อลดแหล่งของเชื้อ การแช่ท่อนพันธุ์ใน tetracycline 500 ppm ที่อุณหภูมิ 50oC นาน 30 นาที สามารถลดการติดเชื้อในท่อนพันธุ์ลงได้บ้าง
โรคพืชที่เกิดจากเชื้อวิสา Virus Diseases of Plant เชื้อวิสาหรือไวรัสเป็น obligate parasite ที่สามารถทำให้เกิดโรคกับสิ่งมีชีวิตทั้งพืช, สัตว์ และพวกจุลชีพอื่น ๆ เชื้อวิสามีลักษณะโครงสร้างอย่างง่ายโดยมีส่วนประกอบสำคัญ 2 อย่าง คือ โปรตีน และกรดนิวคลีอิค (nucleic acid) ซึ่งอาจจะเป็น RNA หรือ DNA อย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนประกอบทั้งสองนี้รวมตัวกันอยู่เป็นอนุภาค (particle) ที่มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา (light microscope) การศึกษาลักษณะทางสัณฐานของเชื้อวิสา จำเป็นจะต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อีเลคตรอน (electron microscope)
ลักษณะอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อวิสา โรคที่เกิดจากเชื้อวิสามีลักษณะอาการค่อนข้างจำเพาะ อาการของโรคอาจเกิดกระจายทั่วทุกส่วนของพืช (systemic symptoms) หรือจำกัดอยู่เพียงเฉพาะบางส่วน (localized) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช, เชื้อและสภาพแวดล้อมขณะที่เกิดโรค ลักษณะอาการของโรควิสามี 3 ประเภทหลักดังนี้ 1. อาการสีผิดปกติ (abnormal coloration) เป็นอาการที่ส่วนต่าง ๆ ของพืชมีสีต่างจากสีปกติ ตัวอย่างเช่น 1.1 อาการใบด่างลาย (mosaic) เนื้อใบจะมีความเข้มของสีเขียวไม่เท่ากัน ความแตกต่างของสีเห็นได้ชัดเจนและมีขอบเขต 1.2 อาการใบด่างกระ (mottling) คล้ายกับอาการ 1.1 แต่ความแตกต่างกันของสีไม่ชัดเจน 1.3 อาการเส้นใบด่างเป็นแถบ (vein-banding) เนื้อเยื่อบริเวณรอบเส้นใบมีสีเข้มหรือซีดกว่าพื้นใบ ถ้าเนื้อเยื่อของเส้นใบมีสีซีดลงกว่าปกติเรียกอาการชนิดนั้นว่า vein clearing 1.4 อาการใบด่างวงแหวน (ringspot) เกิดเป็นจุดด่างซ้อนกันเป็นวงตามเนื้อใบหรือรอบ ๆ เส้นใบ 1.5 อาการดอกด่าง (color breaking) เนื้อเยื่อของดอกมีการกระจายของสีไม่สม่ำเสมอผิดไปจากปกติ 1.6 อาการใบขีด (leaf streaking) ใช้เรียกอาการด่างที่เกิดกับพืชใบเลี้ยงเดี่ยว โดยเกิดอาการด่างเป็นทางยาวขนานไปกับเส้นใบ บางครั้งเรียก mosaic 1.7 อาการใบเหลือง (yellowing) ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองตลอดทั้งใบ ปัจจุบันพบว่าอาการดังกล่าวนี้เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อมายโคพลาสมาเป็นส่วนใหญ่ 1.8 อาการใบด่างกระ (mottling) คล้ายกับอาการ 1.1 แต่ความแตกต่างกันของสีไม่ชัดเจน 2. อาการรูปร่างผิดปกติ (malformation) เป็นอาการที่เชื้อทำให้พืชมีรูปพรรณสัณฐานต่างไปจากปกติ เช่น อาการใบหงิก (leaf curl), อาการเป็นตุ่มหูด (gall, tumor), อาการใบเป็นติ่ง (enation), อาการใบลีบ (shoe string) และอาการแคระแกร็น (stunt, dwarf) เป็นต้น 3. อาการไหม้ตาย (necrosis) เป็นอาการแห้งตายสีน้ำตาลบริเวณที่เนื้อเยื่อถูกเข้าทำลาย ถ้าตายเป็นจุด ๆ เรียกว่า necrotic spot ถ้าตายจากยอดลงมาเรียกว่า die back อาการไหม้ตายที่เกิดจากเชื้อวิสาพบค่อนข้างน้อยลักษณะอาการเหล่านี้อาจผันแปรไปตามสภาพแวดล้อม ในบางโอกาสพืชที่เป็นโรคอาจจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ทั้งที่มีเชื้อเข้าไปเจริญอยู่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า พืชแสดงอาการหลบใน (masked symptom)
การเรียกชื่อเชื้อวิสาของพืช ระบบการเรียกชื่อเชื้อวิสาโรคพืชมีด้วยกันหลายระบบ แต่ที่นิยมที่สุดคือ เรียกชื่อเชื้อตามลักษณะอาการที่เกิดกับพืชอาศัย (vernacular name) เช่น วิสาโรคใบด่างของยาสูบ หรือ Tobacco mosaic virus เรียกชื่อย่อ (acronym) ว่า TMV โดยทั่วไปชื่อย่อเป็นชื่อที่นิยมใช้มากที่สุด
วิธีการเข้าทำลายพืชของเชื้อวิสา เชื้อวิสาเข้าทำลายพืชโดยผ่านเข้าทางบาดแผลที่เกิดจากการจับต้องหรือโดยการนำของพานะ เช่น แมลง และไส้เดือนฝอย ในสภาพปกติเชื้อไม่สามารถเข้าทำลายพืชโดยการผ่านเข้าทางรูเปิดธรรมชาติ หรือโดยการผ่านเข้าเซลล์โดยตรง (direct penetration) ดังเช่นเชื้อโรคชนิดอื่น ๆ เชื้อวิสาที่ได้รับการนำโดยพาหะมักจะมีความสัมพันธ์กับพาหะนั้น ลักษณะของความสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญที่ควรทราบ เพราะสามารถนำมาใช้พิจารณาหาวิธีการป้องกันกำจัดที่มีประสิทธิภาพได้ โดยทั่วไปความสัมพันธ์ดังกล่าวมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ 1. Stylet borne หรือ non peristent : เป็นความสัมพันธ์ระดับต่ำชนิดที่เชื้อวิสาเพียงติดอยู่กับส่วนปากของพาหะโดยเฉพาะส่วนของหลอดดูด (stylet) แมลงจะรับเชื้อไว้ได้โดยใช้เวลาดูดกินพืชที่เป็นโรค เพียง 10-20 วินาที การถ่ายทอดโรคให้กับพืชปกติก็จะใช้เวลาดูดกินเพียงสั้น ๆ เช่นเดียวกัน เชื้อวิสาไม่ต้องรอเวลาฟักตัว (incubation period) ในพาหะ คือ แมลงที่รับเชื้อเอาไว้จะถ่ายทอดเชื้อได้ทันทีที่บินไปดูดกินพืชปกติ เชื้อจะคงทนอยู่กับพาหะได้ไม่นานนัก (non persistent) การใช้สารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงพาหะ มักจะไม่ได้ผลในการป้องกันกำจัดโรคที่เชื้อกับพาหะมีความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ เพราะสารไม่สามารถฆ่าแมลงได้เร็วพอที่จะยับยั้งการถ่ายทอดเชื้อ 2. Circulative or persistent type : เป็นความสัมพันธ์ระดับสูงชนิดที่เชื้อจำเป็นจะต้องเข้าไปหมุนเวียนอยู่ในระบบโลหิตของพาหะ และเชื้ออาจจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นขณะที่อยู่ในตัวแมลง (propagative) หรือไม่เพิ่มปริมาณทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและพาหะ เชื้อจะคงตัวอยู่ในแมลงพาหะได้นาน (persistent) โดยปกติแมลงพาหะ จะใช้เวลาดูดกินพืชนาน (เป็นชั่วโมง) จึงจะสามารถรับเอาเชื้อมาหรือถ่ายทอดเชื้อออกไปได้ การใช้สารฆ่าแมลงประเภทดูดซึมหรือถูกตัวตายสามารถลดการระบาดของโรคที่เกิดจากการนำของแมลงดังกล่าวได้ 3. Semi persistent type : เป็นความสัมพันธ์ลักษณะเดียวกันกับแบบแรก แต่พาหะใช้เวลาดูดกินค่อนข้างนาน (เป็นชั่วโมง) ในการที่จะรับหรือถ่ายทอดเชื้อ เชื้อที่รับไว้จะติดอยู่บริเวณส่วนปาก ไม่เข้าไปหมุนเวียนในระบบโลหิตดังเช่นชนิดที่ 2 เชื้อจะคงอยู่กับแมลงได้ค่อนข้างนาน (semi-persistent) การใช้สารฆ่าแมลงจะให้ผลในการป้องกันกำจัดโรคชนิดนี้ได้ดีพอสมควร
โรควิสาของพืชที่สำคัญในประเทศไทย ในปัจจุบันพบว่าเชื้อวิสาเป็นสาเหตุของโรคพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยหลายโรค การศึกษาส่วนใหญ่มุ่งศึกษาถึงคุณสมบัติของเชื้อสาเหตุ เพื่อที่จะบ่งชนิดของเชื้อ ตัวอย่างของโรคที่จะกล่าวถึงนี้เป็นโรคสำคัญที่ได้มีการศึกษามาพอสมควรแล้ว
โรคใบเหลืองส้มของข้าว (Yellow Orange Leaf of Rice) โรคใบเหลืองส้มหรือใบสีส้มเริ่มระบาดครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2507 ในปัจจุบันพบระบาดอยู่ทั่วทุกเขตที่มีการปลูกข้าว โดยทำให้ผลผลิตลดลงประมาณ 50-70% โรคนี้มีชื่อเรียก ต่าง ๆ กันในแต่ละประเทศ เช่น Tungro (ฟิลิปปินส์), Penyakit merah (มาเลเซีย), mentek (อินโด- นีเซีย) และ leaf yellowing (อินเดีย) ลักษณะอาการ ข้าวที่เป็นโรคจะเริ่มแสดงอาการให้เห็นตั้งแต่อายุ 20 วัน โดยเกิดเป็นรอยขีดสีซีดตามแนวเส้นใบอาการจะเห็นเด่นชัดขึ้นหลังจากปักดำแล้วประมาณ 1 เดือน โดยปลายใบจะเหลืองลุกลามลงไปจนถึงโคนใบ ทำให้มองเห็นต้นข้าวเป็นสีเหลืองหรือเหลืองส้ม ข้าวที่เป็นโรคจะแคระแกร็น แตกกอน้อย ออกดอกช้ากว่าปกติ ทำให้ข้าวแก่ไม่พร้อมกันและให้ร่วงน้อย เมล็ดข้าวมักจะลีบ ความรุนแรงของโรคจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าว, สภาพแวดล้อม, อายุของพืชขณะที่ถูกเชื้อทำลาย และสายพันธุ์ (strain) ของเชื้อที่ทำให้เกิดโรค เชื้อสาเหตุ เชื้อ Rice yellow orange leaf virus (RYOLV) เป็นวิสาที่มีอนุภาคเป็นรูปทรงกลมขนาดประมาณ 32 มิลลิไมครอน วงจรโรค แหล่งที่มาของโรค : มาจากเชื้อในตอซังของข้าวที่งอกขึ้นมาใหม่ หรือจากเชื้อที่อยู่ข้ามฤดูในวัชพืชชนิดต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่ตามข้างคันนา เช่น ข้าวป่า (Oryza rufipogon) หญ้าตีนนก (Eleusine indica) และหญ้าสีชมพู (Echinochloa spp.) เป็นต้น การแพร่ระบาด : เกิดจากการนำของแมลงเพลี้ยจักจั่น เท่าที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิด คือ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว 2 ชนิด คือ (Nephotettix virescens และ Nephotettix nigropictus) และเพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก (Recilia dorsalis) เชื้อวิสามีความสัมพันธ์กับแมลงพาหะในลักษณะ Semi persistent การป้องกันกำจัด 1. เผาทำลายตอซัง โดยเฉพาะจากแปลงที่เคยมีประวัติการเป็นโรคจากฤดูก่อนเพื่อกำจัดแหล่งที่มาของเชื้อ 2. ทำลายวัชพืชโดยเฉพาะพวกพืชอาศัยของเชื้อที่เป็นแหล่งพักตัวของแมลงพาหะเพื่อตัดวงจรของโรค 3. ใช้สารฆ่าแมลงกำจัดแมลงพาหะ วิธีการใช้จะแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของสาร ถ้าเป็นผงผสมน้ำ เช่น Synthetic pyrethroid หรือ MIPC ให้ฉีด 4 ครั้ง ฉีดครั้งแรกเมื่อต้นกล้าอายุ 7-10 วัน ครั้งที่ 2 เมื่อกล้าอายุ 20 วัน จากนั้นฉีดอีก 2 ครั้ง หลังปักดำ 10 และ 20 วัน สำหรับยาเม็ดเช่น คาร์โบฟูราน (Furadan 3% G) ให้หว่าน 2 ครั้ง ครั้งแรกหลังตกกล้า 5-10 วัน ครั้งที่ 2 หลังปักดำ 10 วัน โรคใบหงิกของข้าว (Ragged Stunt Disease of Rice) โรคใบหงิกหรือโรคจู๋ของข้าวพบระบาดครั้งแรกในประเทศไทย ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ. 2520 จากนั้นมาได้ทำความเสียหายระดับประปรายให้กับข้าวในอีกหลาย ๆ จังหวัดทางภาคกลาง เช่น นครปฐม กรุงเทพฯ ปทุมธานี สุพรรณบุรี อยุธยา และชัยนาท จนในปี 2532-2533 ได้ระบาดทำความเสียหายอย่างรุนแรงกับข้าวในเกือบทุกจัดหวัดรวมความเสียหายนับเป็นล้านไร่ เนื่องจากมีการปลูกข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 60 ซึ่งเป็นพันธุ์อ่อนแอต่อโรคอย่างแพร่หลาย ในต่างประเทศได้มีรายงานระบาดของโรคนี้ในประเทศอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, อินเดีย และศรีลังกา ลักษณะอาการของโรคโรคนี้เกิดขึ้นได้กับข้าวในทุกระยะการเจริญเติบโต โดยทำให้ใบมีสีเขียวเข้มรูปร่างของใบบิดหงิก ขอบใบแหว่ง เส้นใบบริเวณกาบใบบวมโป่ง (vein swelling) บางครั้งจะเกิดเป็นทางขาวขึ้นทีหลังใบด้วยต้นข้าวที่เป็นโรคจะแคระแกร็น ถ้าข้าวเป็นโรคในระยะออกรวงจะทำให้ใบธงบิดเป็นเกลียวและมีขนาดสั้นกว่าปกติ รวงข้าวจะโผล่ออกมาไม่พ้นใบธง เมล็ดส่วนใหญ่จะลีบ เชื้อสาเหตุ เชื้อ rice ragged stunt virus (RRSV) มีลักษณะอนุภาคทรงกลมขนาดประมาณ 60 มิลลิไมครอน วงจรโรค แหล่งที่มาของเชื้อ : เป็นวัชพืชตระกูลหญ้าหลายชนิด เช่น ข้าวป่า (Oryza spp.) , หญ้านกสีชมพู (Echinochloa colonum) , หญ้าดอกขาว (Leptochloa chinensis) รวมทั้งตอซังข้าวที่เป็นโรค การแพร่ระบาด : เชื้อแพร่ระบาดโดยการนำของแมลงพาหะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Nilaparvata lugens) ในลักษณะ persistent การป้องกันกำจัดใช้วิธีการเดียวกันกับการป้องกันกำจัดโรคใบสีเหลืองส้มของข้าว สำหรับพันธุ์ต้านทาน ควรใช้พันธุ์ กข 9, 21 หรือ 23 ไม่ควรใช้พันธุ์ กข 1 หรือ 7 หรือพันธุ์สุพรรณ 60 เพราะเป็นพันธุ์อ่อนแอต่อโรค โรคใบด่างของยาสูบ (Tobacco Mosaic) โรคใบด่างของยาสูบเป็นโรคที่พบระบาดอยู่ทั่วไปในแปลงยาสูบเกือบทุกประเทศในโลก เนื่องจากเชื้อสาเหตุมีความคงทนสูงและแพร่ระบาดได้ง่ายมากจนกระทั่วเพียงแต่ใช้มือจับต้นยาสูบที่โรคแล้วเอามือนั้นจับต้นยาสูบปกติก็สามารถทำให้เกิดโรคได้ เชื้อจะยังคงความสามารถในการทำให้เกิดโรคอยู่ได้แม้ว่าใบยาจะได้รับการบ่ม และผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ ในการผลิตยาเส้น หรือยาฉุน แล้วก็ตาม ลักษณะอาการยาสูบที่เป็นโรคจะแคระแกร็นกว่าปกติ ใบด่างเป็นจ้ำ ๆ สีเหลืองหรือเขียวอ่อนสลับกับสีเขียวเข้มของพื้นใบ เนื้อใบหยาบกว่าปกติและอาจนูนเป็นคลื่น อาการจะแสดงเด่นชัดบนใบอ่อน เชื้อสาเหตุ เชื้อ tobacco mosaic virus (TMV) ลักษณะอนุภาคเป็นท่อนตรง ขนาดประมาณ 15 300 มิลลิไมครอน วงจรโรค แหล่งที่มาของเชื้อ : มาจากพืชอาศัยที่เป็นโรคอยู่ก่อนแล้ว เชื้อ TMV มีพืชอาศัยมากมายจนกล่าวได้ไม่หมด เชื้อจะคงอยู่ในเศษซากพืชได้นานมากเป็นปีโดยไม่เสื่อมคุณสมบัติ และยังสามารถติดไปกับเมล็ดที่เก็บมาจากต้นที่เป็นโรคได้ด้วย การแพร่ระบาด : เชื้อ TMV แพร่ระบาดโดยการจับต้อง (mechanical transmission) ได้ง่ายมาก ดังนั้นการแพร่เชื้อส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตอนช่วงย้ายกล้า หรือ ช่วงตัดแต่งหรือเก็บเกี่ยวใบ โดยที่เชื้อจะติดไปกับมือหรือเครื่องใช้ในการเกษตรอื่น ๆ นอกจากนั้นแมลงพวกปากกัดต่าง ๆ เช่น ด้วงหรือตั๊กแตนก็อาจช่วยแพร่กระจายเชื้อได้ด้วย การป้องกันกำจัด 1. คัดเลือกกล้ายาสูบที่ไม่เป็นโรคไปปลูก 2. ทำลายยาสูบหรือวัชพืชต่าง ๆ ที่เป็นโรคให้หมดไปจากแปลงปลูกโดยตัดทำลายแล้วเผาทิ้ง 3. ไม่ควรจับต้องต้นยาสูบโดยไม่จำเป็น หรือถ้าจำเป็นจะต้องจับต้อง ควรจะทำความสะอาดมือหรือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในแปลงปลูกด้วยไตรโซเดียมฟอสเฟส 3% หรือน้ำสบู่ 4. ไม่ควรสูบบุหรี่โดยเฉพาะยาฉุนในขณะปฏิบัติงานไร่ เพราะจะทำให้เชื้อที่อาจติดมากับมือที่จับต้องยาฉุนเข้าทำลายยาสูบที่ปลูกไว้ได้ โรคใบหงิกของฝ้าย (Cotton Leaf Curl) โรคใบหงิกของฝ้ายเป็นโรคที่สำคัญมากของฝ้ายเพราะระบาดแพร่หลายและทำให้พืชเป็นโรคอย่างรุนแรงจนเก็บผลผลิตไม่ได้ สำหรับในประเทศไทยได้รับรายงานการพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2505 โรคได้ระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจนในปี 2516 พบว่าทำความเสียหายให้กับฝ้ายมากประมาณเกือบ 4 แสนไร่ ในจำนวนนี้บางแหล่งมีฝ้ายเป็นโรคถึง 100% ลักษณะอาการ ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับระยะการเจริญเติบโตของฝ้ายขณะที่เชื้อทำลาย ถ้าฝ้ายได้รับเชื้อในระยะเริ่มงอก ต้นจะแคระแกรน ใบหงิกงอ แตกออกเป็นพุ่มและไม่สร้างสมอ ถ้าเชื้อเข้าทำลายในขณะที่ฝ้ายมีอายุประมาณ 1-2 เดือน อาการดังกล่าวจะลดน้อยลง อาจจะพบเพียงอาการเส้นใบมีสีซีด (vein clearing) และขอบใบม้วน การเข้าทำลายหลังจากพืชมีอายุเกิน 2 เดือนขึ้นไปแล้วมักไม่มีผลกระทบต่อผลผลิต พืชที่เป็นโรคอาจจะแสดงอาการคล้ายธาตุแมกนีเซียมด้วย คือ ใบตอนล่างเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือม่วงแดง เชื้อสาเหตุ ยังไม่มีการยืนยันที่แน่นอนถึงชนิดของเชื้อสาเหตุ แต่จากคุณสมบัติบางประการที่ได้รายงานไว้คาดว่าเชื้อสาเหตุน่าจะเป็น Cotton anthocyanosis virus (CAV) วงจรโรค แหล่งที่มาของเชื้อ : จากฝ้ายและวัชพืชอาศัยที่เป็นโรค เท่าที่พบในประเทศไทยได้แก่น้ำนมราชสีห์ (Euphorbia hirta) ขัดมอญ (Sida acuta) และถั่วเหลือง (Glycine max) การแพร่ระบาด : โดยการนำของเพลี้ยอ่อน (Aphis gossypii) ในลักษณะ persistent การป้องกันกำจัด 1. ทำลายฝ้ายและวัชพืชที่เป็นโรคให้หมดไป 2. ใช้สารฆ่าแมลงทำลายเพลี้ยอ่อนที่เป็นพาหะโดยแบ่งการใช้ออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกให้ใช้สารประเภทดูดซึม เช่น Disyston 10% G หรือ Furadan 3% G หยอดลงไปพร้อมกับเมล็ดขณะปลูก หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ให้หมั่นตรวจดูจำนวนของเพลี้ยอ่อนในไร่ หากพบว่ามีจำนวนประมาณ 10 ตัวต่อต้นให้เริ่มฉีดสารประเภทออร์กาโนฟอสเฟต เช่น ไดเมธรไธเอท สำหรับอัตราการใช้และระยะเวลาฉีดให้ดูจากฉลาก ควรจะใช้ไปจนกระทั่งฝ้ายมีอายุเกิน 10 สัปดาห์จึงหยุดใช้ เพราะการเข้าทำลายของเชื้อในระยะหลังไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากนัก 3. ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น พันธุ์ 115-7 หรือพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์แนะนำ ปัจจุบันพบว่าพันธุ์ที่ต้านทานบางพันธุ์สูญเสียความต้านทานไปเมื่อนำไปปลูกในแหล่งปลูกอื่นเนื่องจากการกลายพันธุ์ของฝ้ายเอง หรือการเกิด strain ใหม่ของเชื้อวิสา ดังนั้นก่อนให้คำแนะนำกับกสิกรควรจะมีการตรวจสอบกับกรมวิชาการเกษตรเสียก่อน นอกจากโรคต่าง ๆ ดังที่กล่าวข้างต้นนี้แล้ว ยังมีโรควิสาที่สำคัญอีกหลายชนิดที่ได้รับการศึกษาถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ไว้พอสมควรในประเทศไทย ดังที่ได้รวบรวมไว้ในตารางท้ายบท
อาการที่เกิดจากการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอย เนื่องจากไส้เดือนฝอยศัตรูพืชส่วนใหญ่เข้าทำลายรากและส่วนที่อยู่ใต้ดินการตรวจดูอาการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอยจึงจำเป็นต้องขุดรากขึ้นดูเพื่อหาร่องรอยการเข้าทำลาย อย่างไรก็ตามการที่รากถูกทำลายมักส่งผลให้พืชเกิดความผิดปกติขึ้นบนส่วนที่อยู่เหนือดินด้วย อาการที่มักพบว่าเกิดจากการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอย ซึ่งได้แก่ 1. อาการรากปมหรือรากบวม (root knot หรือ root galls) เกิดขึ้นเนื่องจากปฏิกิริยาการดูดกินเซลล์ของไส้เดือนฝอยรากปม (root knot nematode) Meloidogyne spp. ซึ่งจะกระตุ้นให้เซลล์รากบริเวณที่ถูกดูดกินแบ่งตัวและขยายขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติ รากบริเวณดังกล่าวอาจขยายขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่าปกติถึง 3-4 เท่า ทำให้เห็นเป็นติ่ง รากส่วนที่บวมขึ้นนี้จะดูดซับอาหารได้เลวลง และมักจะแห้งตายก่อนกำหนด หากนำมาต้มใน lactophenol แล้วนำไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบถุงไข่ของ Meloidogyne อยู่เต็มบริเวณรากส่วนที่บวม อาการรากบวมนี้อาจคล้ายกับปมถั่วที่เกิดจาก Rhizobium ในรากของพืชตระกูลถั่ว ข้อสังเกตที่ใช้ในการแบ่งแยกคือ ปมถั่วจะเกิดเฉพาะในพืชตระกูลถั่วเท่านั้น แต่รากบวมจากไส้เดือนฝอยเกิดขึ้นได้กับพืชเกือบทุกชนิด นอกจากนั้นปมถั่วโดยทั่วไปจะมี leghemoglobin สีแดง-ชมพู อยู่ภายใน แต่ปมจากไส้เดือนฝอยจะไม่มี 2. อาการรากแผล (root lesion) เกิดจากการเข้าทำลายของ Pratylenchus spp, cyst nematode และ Radopholus spp. ซึ่งจะดูดกินของเหลวจากเซลล์ทำให้เซลล์ตายและเกิดแผลขึ้นตรงบริเวณที่ถูกดูดกิน ถ้ามีเชื้อราหรือแบคทีเรียเข้าทำลายซ้ำเติมรากบริเวณดังกล่าวอาจจะเน่าและร่อนหลุด ไส้เดือนฝอยในกลุ่มนี้มักเข้าทำลายเหง้า, หัวและฝัก (เช่น ถั่วลิสง) ที่อยู่ใต้ดินด้วย 3. อาการรากกุด (stubby root) เกิดจากการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอย Trichodorus ซึ่งชอบดูดกินบริเวณปลายรากทำให้ปลายรากหยุดเจริญ 4. อาการเหง้าและหัวเน่า (stem and bulb rot) เกิดจากการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอย Ditylenchus ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ถูกดูดกินเป็นแผลและเน่า
5. อาการปมบนเมล็ด (seed gall) อาการปมบนเมล็ดเกิดจากการเข้าทำลายของ Anguina spp. ซึ่งอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ในซอกใบในระยะแรก จากนั้นจะว่ายน้ำขึ้นไปอยู่ตามช่อดอกและเข้าฝังตัวอยู่ในเมล็ด โดยเฉพาะธัญญพืชพร้อมกับออกไข่ในเมล็ดทำให้เกิดเป็นตัวอ่อนจำนวนมากฝังตัวอยู่ในเมล็ด 6. อาการใบไหม้ (leaf blight) เกิดจากการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอย Aphelenchoides spp. ซึ่งเป็นไส้เดือนฝอย genus เดียวที่เข้าทำลายใบ อาการโดยทั่วไปจะเหมือนอาการใบไหม้ที่เกิดจากเชื้อราหรือแบคทีเรีย ในประเทศไทยพบในเบญจมาศและกล้วยไม้ 7. อาการแคระแกรน (stunt) อาการที่เกิดขึ้นกับรากมักส่งผลให้ส่วนที่อยู่เหนือดินแสดงอาการแคระแกรน, ใบเหลืองใบและดอกร่วงเร็วกว่าปกติ ในไม้ยืนต้นพืชจะแสดงอาการโทรม (decline) และหมดอายุเร็วกว่าพืชปกตินอกจากจะทำให้พืชแสดงอาการเป็นโรคโดยตรงแล้ว ไส้เดือนฝอยบางชนิดยังเป็นพาหะนำโรคไวรัสได้อีกด้วยตัวอย่างเช่น Xiphinema, Trichodorus และ Longidorus วิธีวินิจฉัยโรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย การวินิจฉัยโรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอยอาจพิจารณาดูจากอาการในกรณีที่เป็นอาการเฉพาะตัว เช่น รากปมซึ่งอาจบอกได้ทันทีว่าเกิดจากไส้เดือนฝอยเนื่องจากมีลักษณะเฉพาะ แต่สำหรับอาการอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการแคระแกรนเป็นอาการที่อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้หลายชนิด การวินิจฉัยจึงจำเป็นต้องตรวจหา sign คือ ตัวไส้เดือนฝอยเอง ซึ่งมักมีลักษณะเฉพาะตัวและที่สำคัญคือมีหลอดดูดอาหารในช่องปาก (stylet) การตรวจหาไส้เดือนฝอยส่วนใหญ่จะตรวจหาจากดินในกรณีที่ไส้เดือนฝอยเข้าทำลายราก หรืออาจตรวจหาจากชิ้นส่วนที่ไส้เดือนฝอยเข้าทำลาย เช่น เหง้า, หัว, ราก, ใบ หรือเมล็ด ในกรณีตรวจไส้เดือนฝอยจากดิน ควรเก็บดินบริเวณรอบ ๆ รากพืชที่แสดงอาการผิดปกติในช่วงความลึก 5-15 ซม. จากนั้นนำมาแยกไส้เดือนฝอยออกจากอนุภาคดินตามวิธีการนี้ (วิธีผสมระหว่าง Sieving และ Baermann’s funnel technique) 1. นำดินมาผสมน้ำในถัง กวนจนดินละลายแยกตัวออกจากกัน ตั้งทิ้งไว้นานประมาณ 5 นาที ให้ดินตกตะกอน 2. เทน้ำส่วนบนผ่านตะแกรง ขนาด 20 mesh (มีช่อง 20 ช่องในความยาวของตะแกรง 1 นิ้ว) เพื่อกรองเศษพืช หรือวัสดุอื่นที่ขนาดใหญ่กว่า 20 เมช ใช้ถังรองรับน้ำที่ผ่านตะแกรง 3. เทน้ำส่วนที่รองรับไว้ผ่านชั้นตะแกรงขนาด 100, 200 และ 300 เมช ที่วางซ้อนกัน 3 ชั้น ทิ้งตะกอนที่ล้างบนตะแกรง 100 เมช ล้างตะกอนที่ค้างบนตะแกรง 200 และ 300 เมช โดยใช้น้ำฉีดไล่ให้ไปรวมอยู่บริเวณขอบตะแกรง เทน้ำล้างจากตะแกรงทั้งสองขนาดลงรวมกันใน beaker 4. นำตะกอนที่รวบรวมได้ไปแยกไส้เดือนฝอยโดยวิธีของแบร์แมนน์ 5. ไส้เดือนฝอยจากตะกอนดินจะว่ายน้ำออกจากตะกอนและมุดผ่านชั้นของกระดาษลงสู่ก้นกรวย 6. หลังจาก 12-24 ชั่วโมง เปิด clamp หนีบ เก็บไส้เดือนฝอยด้วย beaker หรือ Petridish หรือถ้วยไซราคิวส์ เพื่อนำไปตรวจด้วยกล้องสเตริโอสโคป หรือกล้องจุลทรรศน์
โรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอยที่สำคัญในประเทศไทย การประเมินความเสียหายของโรคพืชที่เกิดจากไส้เดือนฝอยในประเทศไทยยังมีค่อนข้างน้อย เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าไส้เดือนฝอยเข้าทำลายส่วนที่อยู่ใต้ดิน จึงทำให้การพิสูจน์สาเหตุและการประเมินความเสียหายทำได้ยาก อย่างไรก็ตามจากลักษณะของการทำลาย ซึ่งมีลักษณะจำเพาะเจาะจง พบว่าไส้เดือนฝอย Meloidogyne spp. และ Pratylenchus spp. เป็นไส้เดือนฝอยที่มีความสำคัญมากพอควร เนื่องจากสามารถเข้าทำลายพืชเศรษฐกิจได้หลายชนิด
ไส้เดือนฝอยรากปม (Root knot Nematodes)ไส้เดือนฝอยรากปมเป็นไส้เดือนฝอยที่มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากสามารถเข้าทำลายพืชได้หลายชนิด และมักทำให้เกิดความเสียหายในระดับเศรษฐกิจ มักพบระบาดในดินทรายมากกว่าดินเหนียว ทำความเสียหายให้กับพืชโดยการเข้าทำลายระบบราก ทำให้พืชดูดธาตุอาหารได้น้อยลง, แคระแกรน และอ่อนแอต่อสภาพฝนแล้งมากขึ้น นอกจากทำความเสียหายให้กับพืชโดยตรง แล้วไส้เดือนฝอยรากปมยังทำให้พืชอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของโรค bacterial และ Fusarium wilt ด้วย ชนิดของไส้เดือนฝอยที่พบเข้าทำลายผักเช่น มะเขือเทศ, พริก ยาสูบ ไม้ดอกไม้ประกอบ ส่วนใหญ่เป็น Meloidogyne incognita และ M. javanica ซึ่งมีขอบเขตของพืชอาศัยกว้างมาก คือสามารถเข้าทำลายพืชได้มากกว่า 100 ชนิด สำหรับพวกที่เข้าทำลายพืชตระกูลหญ้าคือ M. graminicola มีขอบเขตของพืชอาศัยก่อนค่อนข้างแคบพบเป็นปัญหาในข้าวไร่, ข้าวสาลี และข้าวบาร์เล่ย์ การป้องกันกำจัด 1. ปลูกพืชหมุนเวียนเช่น ใช้พืชใบเลี้ยงเดี่ยว ปลูกสลับกับพืชใบเลี้ยงคู่ 2. ปลูกพืชที่ไส้เดือนฝอยไม่ชอบหรือสามารถฆ่าไส้เดือนฝอยได้ในพื้นที่ที่มีปัญหาจากโรครากปม พืชปลูกที่ไส้เดือนฝอยไม่ชอบ เช่น ถั่วลิสง พืชที่ฆ่าไส้เดือนฝอยได้เช่น ดาวเรือง 3. ปล่อยน้ำท่วมแปลงในบางช่วง ไส้เดือนฝอยส่วนใหญ่จะตายหากถูกน้ำท่วมขังอยู่นาน การปลูกพืชในนาข้าวหลังฤดูทำนามักไม่มีปัญหาจากไส้เดือนฝอยรากปม 4. หากจำเป็น อาจต้องพิจารณาใช้สารเคมีเพื่อฆ่าไส้เดือนฝอยที่มีอยู่ในดิน สารเคมีที่ใช้ฆ่าทั้งไส้เดือนฝอยและแมลงได้แก่ สารคาร์โบฟูแรน (Furadan), อัลคีคาร์บ (Temik G) ซึ่งให้โดยใส่ลงในดินปลูก หรืออาจใช้ชนิดฉีดพ่นทางใบเช่น เมโธมิล (แลนเนท) หรืออาจใช้สารที่ใช้เฉพาะสำหรับฆ่าไส้เดือนฝอย (nematicides) เช่น Nemagon ฉีดลงในดิน หรือใช้สารอบดิน เช่น methylbromide หรือ ฟอร์มัลดีไฮด์ เป็นต้น การใช้สารเคมีเหล่านี้ ควรพิจารณาใช้อย่างรอบคอบ เนื่องจากเป็นสารพิษที่มีอันตรายสูง และบางชนิดมีพิษตกค้างค่อนข้างนาน
II. โรคจากสาเหตุไร้ชีวิต ( Noninfiectious or Abiotic Disease ) ได้แก่ 1. ร้อน-หนาวเกินไป (extreme temperature) 2. ความชื้นในดินน้อยหรือมากเกินไป (lack or excess of soil moisture) 3. แสงน้อยหรือมากเกินไป (lack or excess of light) 4. ออกซิเจนไม่เพียงพอ (lack of oxygen) 5. มลพิษในอากาศ (air pollutants) 6. ขาดธาตุอาหาร (Nutrients deficiency) 7. ธาตุอาหารเป็นพิษ (mineral toxicity) 8. ดิน กรด-ด่าง เกินไป (soil acidity or alkalinity) 9. พิษจากสารกำจัดศัตรูพืช (pesticides toxicity)
ประวัติการศึกษาทางโรคพืชวิทยา 1743 Needham : ไส้เดือนฝอยในเมล็ดข้าวสาลี 1807 Prevost : Bunt of wheat 1845-46 Late blight of potato ระบาดหนักมากในประเทศไอร์แลนด์ 1861 de Bary พิสูจน์ว่า Phytophthora infestans เป็นสาเหตุของ late blight ของมันฝรั่ง 1878 Burrill : bacterial fire blight ใน pear และ apple 1878 Downy mildew ขององุ่นระบาดหนักในยุโรป 1885 Millardet : Bordeux Mixture สารกำจัดเชื้อราชนิดแรกของโรคก่อกำเนิด 1898 Beijerink : ใบด่างของยาสูบ : plant virus ชนิดแรกได้รับการศึกษา 1931 Stahel : protozoa :phloem necrosis ในกาแฟ 1967 Doi et al : Mycoplasma ในพืช 1971 Diener : viroid ในมันฝรั่ง 1972 Windsor & Black : Rickettsia ใน xylem & phloem พืช
การศึกษาโรคพืชในไทย รากเน่าของพริกไทย : ประมาณรัชกาลที่ 7
โรคพืชมีความสำคัญอย่างไร ? - Direct loss : ผลผลิตลดลง ( ปริมาณ/คุณภาพ ) กระทบผู้ผลิตโดยตรง - Indirect loss : * ราคาผลผลิตแพงขึ้น * ค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มขึ้น * มลภาวะจากการใช้ pesticides * ความบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการบริโภคพืชที่เป็นโรค * ผลกระทบทางจิตใจ * ปัญหาต่อเนื่องในวงจรการผลิตในกรณีพืชอุตสาหกรรม
ความเสียหายอันเนื่องมาจากโรคพืชเมื่อโรคพืชเกิดขึ้นกับพืชปลูกแล้ว มักจะเกิดผลเสียหายมากมาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นพอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้1. โรคพืชทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่าย และแรงงานเพิ่มขึ้น เมื่อมีโรคพืชเกิดระบาด เกษตรกรต้องสูญเสียเงินในการซื้อเครื่องมือ สารเคมีเพื่อมาใช้ในการป้องกันการกำจัด นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าแรงงานเพิ่มขึ้นจากเดิม ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยสั่งซื้อสารกำจัดโรคพืชปีละพันพันล้านบาทมาจากต่างประเทศ2. โรคพืชทำลายแหล่งเพาะปลูกพืช โรคพืชบางโรคระบาดมาก จนทำให้เกษตรกรต้องเปลี่ยนสถานที่ปลูกพืช หรือปลูกพืชอื่นทดแทน ดังได้เคยปรากฏมาแล้วในอดีต เช่นการเกิดโรคสนิมเหล็กของกาแฟ (Coffee rust) ที่เกิดจากเชื้อรา Hemiliea vastatrix ที่ประเทศ ศรีลังกา ในปี ค.ศ. 1880 จากนั้นอีก 2-3 ปีต่อมา เกษตรกรก็ยังไม่สามารถ ควบคุมการระบาดของโรคนี้ได้ เกษตรกรจึงหันไปปลูกยางพารา และชาแทน สำหรับในประเทศไทยเคยมีตัวอย่างเช่นนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเคยเป็นแหล่งปลูกพริกไทยแหล่งใหญ่ที่สามารถทำรายได้ให้เกษตรกรสูงแต่การปลูกพริกไทยต้องเลิกไปเพราะเกิดโรครากเน่าอันเนื่องมาจากเชื้อรา และไส้เดือนฝอยรากปมเข้าทำลาย ทำให้เกษตรต้องหันไปปลูกไม้ผลแทน3. โรคพืชทำให้ผลผลิตลดลง โรคพืชบางโรคเมื่อเกิดระบาดแล้วทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก จนบางครั้งอาจไม่ได้ผลผลิตเลย ตัวอย่าง เช่น การเกิดโรคราน้ำค้างของข้าวโพด โรคไหม้และเน่าคอรวงของข้าว โรคเหี่ยวของมะเขือเทศ เป็นต้น4. โรคพืชทำให้ผลผลิตด้อยคุณภาพและราคา โรคพืชบางชนิดอาจไม่กระทบกระเทือนต่อขนาดและน้ำหนักของผลผลิตมากนัก แต่ทำให้ผลผลิตนั้นไม่น่ารับประทาน จำหน่ายไม่ได้ราคา ตัวอย่างเช่น โรคแคงเกอร์ของมะนาว ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุ โรคก้นเน่าของมะเขือเทศ ราดำ (Sooty mold) ที่เกาะอยู่ตามผลไม้ชนิดต่าง ๆ เป็นต้น5. โรคพืชอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตมนุษย์ สัตว์เลี้ยง เช่น โรคเออกอตของข้าวไรน์ ในต่างประเทศที่เกิดจากเชื้อรา Claviceps purpurea โดยเชื้อราจะสร้างสารพิษออกมา ทำให้คนที่รับประทานขนมปังที่ทำจากข้าวไรน์ที่เป็นโรค เป็นอันตรายถึงชีวิตมาแล้วนับพันคน ในประเทศไทยมีเชื้อรา Aspergillus flavus ที่ขึ้นอยู่ตามเมล็ดธัญพืช ถั่วลิสง ราจำพวกนี้สามารถผลิตสารพิษ แอลฟา-ทอกซิน (Alfla-toxin) ถ้ามนุษย์หรือสัตว์รับประทานอาหารที่มีราชนิดนี้ อาจเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ได้
• ความเสียหายจากศัตรูพืช : 33.7% • โรคพืช 11.8% • แมลง 12.2% • วัชพืช 9.7%
ตัวอย่างของโรคพืชที่สำคัญ (ระดับโลก)
วิธีการเข้าทำลายพืชของเชื้อราและการเกิดโรคเมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดของเชื้อราปกติมักจะเป็นสปอร์ไปสัมผัสกับพืช ก็จะงอกและเข้าไปภายในส่วนต่างๆของพืช การเข้าสู่พืชของเชื้อรามีวิธีการต่าง ๆดังนี้ 1. การเข้าทางบาดแผล2. การเข้าทางช่องเปิดทางธรรมชาติ (natural opennings) ซึ่งมีปากใบช่องเปิดปลายใบ รอยแตกตามธรรมชาติที่ลำต้นและราก เป็นต้น3. การเข้าโดยตรงทางชั้นเคลือบผิว (cuticle) และเซลล์ผิว(direct penetration) หลังจากที่เชื้อราเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของพืชแล้ว เชื้อราจะใช้อาหารจากพืชเพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของเชื้อ ทำให้พืชเกิดการขาดอาหาร และเป็นสาเหตุให้พืชเกิดอาการของโรค นอกจากอาการของโรคที่เกิดจากการขาดอาหารเนื่องจากเชื้อราเป็นสาเหตุโดยตรงแล้ว อาการของโรคยังเกิดจากเชื้อราทางอ้อมโดยที่เชื้อราขับถ่ายสารต่างๆออกมาแล้วไปมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกิจกรรมเมแทบอลิซึม (metabolism) ของเนื้อเยื่อพืช สารที่เชื้อราสร้างขึ้นดังกล่าว ได้แก่ เอนไซม์ ทอกซิน(toxins)สารควบคุมการเจริญเติบโต(growth regulators) สารปฏิชีวนะ (antibiotic) และสารพอลิแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) ชนิดต่างๆ เชื้อราบางตัวอาจจะสร้างสารเพียงชนิดเดียว บางตัวก็สร้างหลายๆ ชนิดรวมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ สารต่างๆ เหล่านี้อาจจะทำลายเซลล์พืชโดยตรงหรือมีอิทธิพลกับกลไกที่ควบคุมขบวนการเมแทบอลิซึมต่างๆ ในเซลล์
ตัวอย่างโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราเป็นโรคพืชกลุ่มใหญ่ที่สุด มีจำนวนมากที่สุด ในบรรดาโรคพืชที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ประมาณกันไว้ว่า โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรามีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของโรคพืชที่เกิดขึ้นทั้งหมด ในบทนี้จะกล่าวเพียงโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราที่พบเห็นกันบ่อยและเป็นโรคพืชที่มีความสำคัญต่อพืชเศรษฐกิจ1. โรคเน่าคอดินของกล้าพืช (Damping off of seedlings)ลักษณะอาการ เชื้อราที่เป็นสาเหตุจะเข้าทำลายได้ตั้งแต่พืชอยู่ใต้ดิน โดยทำลายส่วนยอดและราก ทำให้ต้นกล้าที่เพิ่งจะงอกออกจากเมล็ดตายก่อนที่จะโผล่ขึ้นมาเหนือดินเราเรียกอาการในระยะนี้ว่า อาการเน่าก่อนการงอก (pre-emergence damping off) หรือเมล็ดเน่า (seed rot) แต่ถ้าเชื้อเข้าทำลายตรงโคนต้นกล้าที่อยู่ระดับดิน ในขณะที่ต้นกล้าโผล่ขึ้นมาเหนือดิน โคนต้นกล้ามีรอยช้ำสีน้ำตาล ทำให้ต้นกล้าหักพับลง ยอดจะเฉาและแห้งตายในที่สุด ในแปลงเพาะกล้ามักจะมีต้นกล้าล้มตายเป็นหย่อม ๆ อาการระยะนี้เรียกว่า อาการเน่าหลังการงอก (post-emergence damping off)เชื้อสาเหตุ มีเชื้อราหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ เช่นPythium spp.Phytophthora spp.Sclerotium spp.Rhizoctonia spp.Fusarium spp.
2. โรคเน่าเละของผลไม้และผักที่เกิดจากเชื้อรา (Soft rot of fruits and vegetables)ลักษณะอาการ เนื้อเยื่อของส่วนที่เป็นโรคจะช้ำ ชุ่มน้ำ ต่อมาความชื้นจะละเหยไปทีละน้อยจนผิวเหี่ยวย่น ผิวพืชอาจจะแตกเละและมีน้ำไหลออกมา เชื้อราจะเจริญออกมาทางแผลแตกให้เห็นสปอแรงจิโอฟอร์ (sporongiophore) สีเทาคลุมอยู่และที่ปลายจะเกิดสปอแรงเจียม (sporangium) สีดำเป็นจุดเล็ก ๆ ให้เห็น เชื้อราจะลุกลามเจริญต่อไปยังหีบห่อที่ใช้บรรจุอาจจะส่งกลิ่นเหม็นถ้ามีเชื้อยีสต์หรือบัคเตรีอื่นๆ เข้าทำลายซ้ำเติมเชื้อสาเหตุ Rhizopus sp.
3. โรคแอนแทรคโนสของพริก (Anthracnose of Pepper )ลักษณะอาการ โรคนี้มักจะเกิดอาการให้เห็นชัดเจนบนผลพริกที่แก่จัด หรือผลสุก เกิดจุดวงกลมช้ำสีน้ำตาล เนื้อผลบุ๋มลงไปเล็กน้อย จุดแผลจะขยายเป็นวงกลมหรือวงรีรูปไข่ แผลด้านนอกจะเห็นเป็นวงกลมสีดำซ้อนกันเป็นชั้นๆ กระจายไปตามวงกว้างของแผล วงกลมสีดำนี้ประกอบด้วยปุ่มสีดำเล็กๆ ซึ่งภายในบรรจุไปด้วยสปอร์ของเชื้อรา ถ้าอากาศชื้นมากที่แผลจะมีเมือกสีส้มอ่อนๆ เยิ้มออกมาคล้ายหยดน้ำ ถ้าเขี่ยแล้วส่องดูด้วยกล้องจุลทัศน์จะพบสปอร์สีใสเป็นจำนวนมากเชื้อสาเหตุ Colletotrichum piperatum Colletotrichum capsici4. โรคน้ำค้างของพืช (Downy Mildew Of Plants)โรคราน้ำค้างเกิดจากเชื้อราชั้นต่ำที่อยู่ในชั้น Phycomycetes (Oomycetes) ราน้ำค้างทุกชนิดอยู่ในวงศ์ Peronosporaceae เป็นปรสิตถาวร (obligate parasite) ของพืชชั้นสูงหลายชนิด เช่น พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผล พืชไร่ ราน้ำค้างมีหลายชนิด
สรุปเชื้อราเป็นพืชชั้นต่ำที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ มีลักษณะโดยทั่วไปเป็นเส้นใยที่แตกกิ่งก้านสาขา และไม่สามารถจำแนกออกได้ว่า ส่วนไหนเป็นลำต้น ราก หรือใบ เท่าที่พบมีมากกว่า 100,000 ชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นพวก แซโพรไฟต์ ที่อาศัยซากพืชซากสัตว์ แต่ก็มีหลายชนิดที่อาศัยอยู่บนพืชที่มีชีวิตซึ่งเป็นสาเหตุของโรคพืช เชื้อราสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบไม่ใช้เพศ และแบบใช้เพศ การขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ มีวิธีการขยายหลายวิธี เช่น การหักของเส้นใย (fragmentation) การแบ่งแยกเซลล์ (fission) การแตกหน่อ (budding) และ การสร้างสปอร์แบบไม่ใช้เพศ (asexual spore) การขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศมักเกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อรา และพืชอาศัย เชื้อราจะสร้างหน่วยขยายพันธุ์ขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ในการแพร่ระบาด ส่วนการขยายพันธุ์แบบใช้เพศนั้น เป็นการขยายพันธุ์โดยมีการรวมตัวของเซลล์เพศ 2 เซลล์เพศ และสุดท้ายก็ได้สปอร์แบบใช้เพศ (sexual spore) สปอร์แบบใช้เพศมักจะถูกสร้างขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเพื่อเชื้อราสาเหตุสามารถอยู่ข้ามฤดูแล้งได้ นอกจากเชื้อราสาเหตุจะอาศัยภายในพืชอาศัยที่เป็นโรคแล้ว ยังสามารถหลบอาศัยอยู่ภายในรากพืช ซากสัตว์ ที่ทับถมในดิน ในเมล็ดพืช และในพืชอาศัยนอกฤดูปลูก การเข้าทำลายพืชของเชื้อรามักทำลายโดยวิธีหลายวิธี เชื้อราสาเหตุบางชนิดใช้เส้นใยที่งอกจากสปอร์แทงเข้าทางผิวของพืชโดยตรง บางชนิดใช้เส้นใยแทงเข้าทางบาดแผล ทางช่องเปิดธรรมชาติของพืช เช่น ปากใบ ช่องเปิดปลายใบ และรอยแตกตามลำต้น และรากพืช การเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อพืชจะอาศัยอยู่ภายในเซลล์พืช และอาศัยอยู่ตามช่องว่างระหว่างเซลล์ ทำให้พืชแสดงอาการของโรคปรากฏ ออกมาให้เห็น
- ราสนิมของธัญพืช - ราเขม่าของธัญพืช - ราแป้งขององุ่น - ราน้ำค้างขององุ่น - ใบไหม้ของมันฝรั่ง - ราสนิมของกาแฟ - ใบไหม้ของยางพารา - ราน้ำค้างของยาสูบ - ใบจุดสีน้ำตาลของข้าว
โรคราแป้งขาวของพืช (Powdery mildew of plants)ลักษณะอาการ โรคนี้สามารถเป็นกับพืชได้หลายส่วน เช่น ใบ ยอดอ่อน ตา กิ่ง ลำต้น และดอก ถ้าโรคนี้เป็นกับใบอ่อน บริเวณที่เป็นโรคจะเริ่มแสดงอาการนูนกว่าปกติ ต่อมาจะเกิดมีผงสีขาวขึ้นปกคลุม ในไม่ช้าใบจะหงิกงอ ถ้าเป็นกับใบที่โตเต็มที่อาการหงิกงอจะปรากฎเล็กน้อยในระยะหลัง ใบจะเป็นแผลสีม่วง แดง ดำ เนื่องจากเซลล์ถูกทำลาย บริเวณส่วนอื่น ๆ ที่เป็นโรคจะมีเส้นใยสีขาว ขึ้นปกคลุม ถ้าเป็นส่วนตาของพืช ตาพืชจะไม่เจริญ กิ่งที่เป็นโรคนาน ๆ อาจจะแห้งตายในที่สุด ผงสีขาวที่เป็นบนส่วนต่าง ๆ ของพืชก็คือ ส่วนของเส้นใย และคอนิเดียของเชื้อราเชื้อสาเหตุ Oidium sp.
โรคราน้ำค้างขององุ่น (Downy mildew of grape)ลักษณะอาการ เชื้อสามารถทำลายได้ทั้งใบ ผล และลำต้น ด้านบนของใบจะมีจุดสีซีด ขนาดเล็ก ต่อมาขยายใหญ่ขึ้น ใต้ใบมีกลุ่มของ สปอแรงจิโอฟอร์ และ สปอแรงเจียม เกิดขึ้นที่แผล มีสีเทาเข้ม ต่อมาแผล บนใบแห้งเป็นสีน้ำตาล ถ้าเชื้อราเข้าทำลายผลองุ่นระยะเล็กๆ จะทำให้ผลโตได้เพียงครึ่งหนึ่งของผลโตเต็มที่ ผลย่น และแห้ง มีสีแดง หรือสีน้ำตาล ส่วนเถาองุ่นที่ยังอ่อนเมื่อถูกราเข้าทำลาย จะแคระแกรนเปลี่ยนรูปร่าง เนื้อเยื่อเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และตายในที่สุดเชื้อสาเหตุ Plasmopara viticola
โรคจากไวรัส - ใบด่างของอ้อย - โรคโทรมของส้ม – มะนาว - ใบด่างของมันสำปะหลัง - เหลืองแดงของข้าวบาเลย์ - โรคต้นบวมของโกโก้
โรคจากแบคทีเรีย - โรคแคงเกอร์ของส้ม – มะนาว - โรคเหี่ยวของมะเขือเทศ – กล้วย
โรคจากไส้เดือนฝอย - โรครากปมจากไส้เดือนฝอย
โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม (Citrus canker)ลักษณะอาการ โรคนี้สามารถเกิดอาการบนใบ กิ่งต้น ผล ช่อดอก กิ่งก้าน และราก อาการที่ใบ ระยะเริ่มแรกเป็นจุดเล็กขนาดเท่าหัวเข็มหมุด บริเวณโดยรอบแผลมีสีซีดเล็กน้อย ต่อมาจุดจะนูนและฟูคล้ายฟองน้ำ มักจะเกิดที่ใต้ใบก่อน จากนั้นจึงนูนทั้ง 2ด้านของใบ แผลเป็นสะเก็ดขรุขระเมื่อมีอายุมาก บริเวณโดยรอบแผลจะมีสีเหลือโดยรอบ ขนาดของแผลขึ้นอยู่กับความต้านทานของพืชแต่ส่วนมากจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2.5 มม. อาการที่กิ่งก้าน อาการที่กิ่งก้านมักจะเกิดกับส้มที่อ่อนแอ เป็นแผลนูนฟูคล้ายกับแผลที่ใบ หากเกิดแผลขึ้นโดยรอบกิ่ง กิ่งจะตายอาการที่ผล แผลจะคล้ายกับแผลบนใบ แผลมักจะเกิดเดี่ยว ๆ กลม บริเวณรอยแผลดูคล้ายฝังลึกลงไปผิวของผลเชื้อสาเหตุ Xanthomonas citri การแพร่ระบาด เชื้อจะเข้าทำลายพืชทางบาดแผล และช่องเปิดตาม
โรคเหี่ยวของมะเขือเทศ (Bacterial wilt of tomato)ลักษณะอาการ อาการแรกเริ่มจะพบว่าต้นมะเขือเทศจะมีใบล่างๆ ห้อยลู่ลง ใบอ่อนจะเหี่ยวกลางคืน และตอนเช้าตรู่อาการเหี่ยวจะหายไป ช่วงระยะเวลาการเหี่ยวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในวันต่อมาจนเกิดอาการเหี่ยวทั้งวัน ที่โคนต้นมะเขือเทศที่เป็นโรคจะมีรากวิสามัญ(Adventitious roots)เกิดขึ้นมากมาย ถ้าตัดลำต้นตามขวางหรือตามยาวจะพบว่าบริเวณท่อน้ำท่ออาหารมีสีน้ำตาล และมีเมือกเยิ้มออกมาเชื้อสาเหตุ Pseudomonas solanacearum การแพร่ระบาด เชื้อแพร่กระจายไปกับน้ำที่ให้กับพืช เชื้อจะเข้าทำลายรากมะเขือเทศทางบาดแผลที่เกิดจากพวกไส้เดือนฝอยหรือแมลงในดินเข้าทำลาย
การเข้าทำลายพืชของไส้เดือนฝอยศัตรูพืช ไส้เดือนฝอยเข้าทำลายพืชโดยการใช้หลอดดูดอาหารเจาะผ่านส่วนของพืชและอาศัยวิธีกล ทำให้เกิดแผลและเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ความเสียหายเกิดจากการที่ไส้เดือนฝอยปล่อยน้ำลายเข้าสู่พืชในขณะที่กัดกิน น้ำลายที่ถูกสร้างโดยไส้เดือนฝอยมีสารต่าง ๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงขบวนการทางเคมีภายในพืช และทำความเสียหายให้แก่พืชในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้1. ไส้เดือนฝอยผลิตฮอร์โมนส์ไปเร่งให้เซลล์พืชมีการแบ่งตัวมากผิดปกติ และเซลล์พืชมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ซึ่งมีผลให้พืชแสดงอาการบวมตรงส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือเกิดเป็นปมปุ่มขึ้น2. ไส้เดือนฝอยผลิตน้ำย่อยประเภทเพคโทไลติก เอ็นไซม์ (pectolytic enzyme) และเซลลูโลไลติก เอ็นไซม์ (cellulolytic enzyme) หลายชนิดไปย่อยสลายสารเชื่อมเซลล์ ผนังเซลล์ ทำให้เซลล์ของเนื้อเยื่อหลุดแยกออกจากกัน ทำให้ส่วนของพืชเป็นแผลแตกและเน่าในที่สุด3. ไส้เดือนฝอยขับสารต่อต้านฮอร์โมนส์ออกมา โดยปกติฮอร์โมนส์ออกซินจะถูกสร้างจากยอด และไหลลงมายังรากพืชเพื่อกระตุ้นให้รากยืดยาวออกไป ไส้เดือนฝอยบางชนิด เช่น Ditylenchus dipsaci เข้าทำลายพืชที่ยอด และขับสารต่อต้านฮอร์โมนส์ ซึ่งจะทำให้พืชมีรากสั้น ไม่งอกยาวอย่างพืชปกติ4. ไส้เดือนฝอยสามารถเข้าไปเปลี่ยนสารในพืชทำให้เกิดเป็นสารพิษพวกเบ็นซัลดีไฮด์ (benzaldehyde) และไฮโดรเจนไซยาไนด์ (hydrogen cyanide) ซึมออกไปฆ่าเซลล์พืชข้างเคียงทำให้รากพืชเกิดเป็นแผลลักษณะการเป็นปรสิตของไส้เดือนฝอยศัตรูพืช ไส้เดือนฝอยศัตรูพืชเมื่อเข้าทำลายพืชจะเข้าไปอยู่ในส่วนต่างๆ ของพืชโดยอาศัยอยู่แบบปรสิต (parasite) และเกาะกินน้ำเลี้ยงจากพืช การแบ่งประเภทไส้เดือนฝอยโดยอาศัยลักษณะการเป็นปรสิต สามารถแบ่งไส้เดือนฝอยออกได้ 3 ประเภทดังนี้1. ปรสิตภายนอก (Ectoparasite) เป็นไส้เดือนฝอยที่อาศัยอยู่ในดินภายนอกรากพืช ไส้เดือนฝอยประเภทนี้จะมีหลอดดูดอาหารที่ยาว เข้าทำลายพืชโดยใช้หลอดดูดอาหารแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อพืช ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ส่วนลำตัวไส้เดือนฝอยจะอยู่ภายนอกราก และมีการเคลื่อนย้ายเข้าทำลายพืชส่วนอื่นต่อไปเรื่อย ๆ 2. ปรสิตกึ่งภายใน (Semi-endoparasite) เป็นไส้เดือนฝอยที่เมื่อเข้าทำลายพืช จะฝังส่วนหัวเข้าไปในเนื้อเยื่อพืชประมาณ 1/3 ของความยาวลำตัว เมื่อดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชแล้วจะเคลื่อนที่ต่อไปยังส่วนอื่น ๆ แต่ก็มีไส้เดือนฝอยบางชนิดที่ฝังส่วนหัวบางส่วนไว้ในเนื้อเยื่อพืชจนกระทั่งออกไข่3. ปรสิตภายใน (Endoparasite) เป็นไส้เดือนฝอยที่อาศัยอยู่ภายในรากพืช หรือส่วนอื่นๆ ของพืช ไส้เดือนฝอยประเภทนี้บางชนิดฝังตัวอยู่ภายในพืชส่วนใดส่วนหนึ่งตลอดไปโดยไม่มีการเคลื่อนย้าย บางชนิดสามารถเคลื่อนย้ายออกมาภายนอกส่วนของพืชเพื่อเข้าทำลายพืชส่วนอื่น ๆ ต่อไปอาการของโรคพืชที่เกิดจากไส้เดือนฝอย พืชที่เป็นโรคอันเนื่องมาจากไส้เดือนฝอยศัตรูพืชนั้นมักจะพบอาการเกิดขึ้นที่รากส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะว่าไส้เดือนฝอยมักจะอาศัยอยู่ในดิน อย่างไรก็ดีอาการที่พบกับส่วนอื่น ๆ ของพืชที่อยู่เหนือดินก็มีบ้าง อาการต่าง ๆ เท่าที่พบมีดังต่อไปนี้1. รากเป็นปุ่มปม (Root knots or gall) อาการนี้นับเป็นอาการของโรคที่พบมากที่สุด รากพืชถูกไส้เดือนฝอยเข้าไปดูดกินน้ำเลี้ยงจะพองโตเป็นปุ่มเป็นปม ไส้เดือนฝอยที่ทำให้เกิดอาการปุ่มปมเช่น Meloidogyne spp., Heterodera spp.เป็นต้น2. รากเป็นแผล ( Root lesions ) อาการนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากเนื้อเยื่อพืชที่ส่วนรากถูกไส้เดือนฝอยดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้เกิดแผลได้ทั้งขนาดเล็ก จนถึงแผลขนาดใหญ่ซึ่งเกิดโดยรอบของรากได้ ไส้เดือนฝอยที่ทำให้เกิดอาการนี้ได้แก่ Pratylenchus spp. 3. รากกุด ( Stubby root) ไส้เดือนฝอยจะเข้าทำลายโดยการดูดกินที่ปลายรากทำให้ปลายรากชงักการเจริญเติบโต กุดและสั้น4. รากเน่า (Root rot) นอกจากไส้เดือนฝอยเข้าทำลายที่รากพืชแล้วยังมีเชื้อรา และแบคทีเรียทั้งที่เป็นสาเหตุของโรคและเป็นแซโพรไฟต์ (saprophyte) เข้าทำลายซ้ำเติมทำให้เกิดอาการรากเน่าได้5. เมล็ดพืชบวมเป็นก้อน (Seed gall) ส่วนมากมักจะเป็นกับเมล็ดธัญญพืช โดยที่พวกไส้เดือนฝอยเข้าไปอาศัยกินอยู่และออกลูกภายในเมล็ด ทำให้เมล็ดบวม พองโตผิดปกติ ไส้เดือนฝอยที่ทำให้เกิดอาการชนิดนี้ เช่น Anguina tritici6. ตาดอกหรือจุดงอกของเมล็ดตาย ไส้เดือนฝอยทำลายตาได้แก่ Aphelenchoides besseyi กินตากล้วยไม้ สตรอเบอรี่ ทำให้ตาดอกและจุดงอกเสียไป7. ช่อดอก ลำต้น และใบหงิกงอ ไส้เดือนฝอยพวก Ditylenchus spp. ทำให้รวงต้นข้าว หอมหัวใหญ่ และไม้ดอกประเภทหัว มีอาการหงิกงอ8. แผลบนใบ ไส้เดือนฝอยพวก Aphelenchoides ritzema-bosi จะเข้าไปอาศัยในใบพืชและดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้เซลล์ในใบพืชตาย เกิดเป็นแผลสีน้ำตาล ดำ บนพื้นใบ9. ส่วนของไฮโปโคทิล ( Hypocotyl ) บวมและเน่า ไส้เดือนฝอย Pratylenchus zeae เข้าทำลายส่วนของไฮโปโคทิล ของต้นอ่อนทุเรียน ทำให้ส่วน ไฮโปโคทิล บวมและเน่า10. ปลายใบขาว ไส้เดือนฝอย Aphelenchoides besseyi ทำให้เกิดโรคปลายใบขาว (white tip) ปลายใบพืชมีสีขาวหรือเหลืองขนาด 1-2 นิ้ว จากปลายใบเข้ามา และมีอาการบิดเบี้ยวด้วยการแพร่ระบาดของไส้เดือนฝอยศัตรูพืช เนื่องจากไส้เดือนฝอยเคลื่อนที่ด้วยตัวเองได้ช้ามาก ดังนั้นการที่ไส้เดือนฝอยสามารถแพร่ระบาดได้ก็มักจะไปได้โดยการติดไปกับสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้1. ติดไปกับน้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน2. ติดไปกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกต่าง ๆ 3. ติดไปกับส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น กิ่งตอน กล้าพืช หัวพืช เป็นต้น4. ติดไปกับเมล็ดพันธุ์พืช เช่น หญ้า ข้าว เป็นต้น5. ติดไปกับเครื่องมือทางกสิกรรมต่าง ๆการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยศัตรูพืช ในการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยศัตรูพืชให้ได้ผลนั้นจะต้องอาศัยความรู้พื้นฐานต่าง ๆ ช่วยในการวางแผนที่รัดกุมและเหมาะสม วิธีการป้องกันกำจัดมีหลายวิธีต่าง ๆ ดังนี้1.การใช้วิธีทางเกษตรกรรม เป็นวิธีปฏิบัติการในไร่นาเพื่อลดปริมาณของไส้เดือนฝอย ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีการย่อย ๆ ดังนี้1.1 การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชหมุนเวียนโดยใช้พืชที่ไม่ใช่พืชอาศัยของไส้เดือนฝอยปลูกประมาณ 3-4 ปี สลับกัน จะทำให้จำนวนไส้เดือนฝอยในดินลดจำนวนลง1.2 การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำจากเศษซากพืชจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากไส้เดือนฝอยได้ เช่น การใช้ปุ๋ยพืชสดหญ้ากัวเตมาลาใส่ในไร่ชา จะสามารถลดความรุนแรงโรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอยรากแผล Pratylenchus coffeae เป็นต้น2. ฆ่าด้วยความร้อน ปกติการอบดินด้วยไอน้ำให้ดินทุกส่วนร้อน 82 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 30 นาที สามารถฆ่าไส้เดือนการฝอยและไข่ได้หมด การใช้ไอน้ำฆ่าไส้เดือนฝอยมักจะใช้การฝังท่อเหล็กลงในดิน และปล่อยไอน้ำให้ผ่านตามท่อเหล็ก อย่างไรก็ตามการใช้ไอน้ำวิธีนี้มักจะทำได้ในขอบเขตจำกัด และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ส่วนการฆ่าไส้เดือนฝอยในหัวและเมล็ดพืช มักจะนำส่วนของพืชแช่ในน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 5-30 นาที ระยะเวลาในการแช่ย่อมขึ้นอยู่กับความทนทานของส่วนของพืชแต่ละชนิด3. การใช้พันธุ์ต้านทาน พืชที่มีความต้านทานต่อไส้เดือนฝอย มักจะต้านทานไส้เดือนฝอยบางชนิดเท่านั้น เป็นการยากที่จะหาพืชที่มีความต้านทานต่อไส้เดือนฝอยหลายชนิด4. การใช้สารเคมีฆ่าไส้เดือนฝอย การใช้สารเคมีฆ่าไส้เดือนฝอยศัตรูพืชเป็นวิธีที่ใช้กันบ่อย ทั้งนี้เพราะสามารถเห็นผลในการกำจัดได้ทันที อย่างไรก็ตามยาปราบไส้เดือนฝอยเป็นยาที่มีราคาค่อนข้างแพง อีกทั้งยังต้องอาศัยเทคนิคและความชำนาญในการใช้เครื่องมือดีพอควร จึงจะได้ผลดี ยาฆ่าไส้เดือนฝอยอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้4.1 สารที่ใช้ในการอบดิน ส่วนมากมักใช้ก่อนการปลูกพืช สารประเภทนี้มีทั้งเป็นก๊าซ ของเหลวระเหยเป็นก๊าซ ของเหลว เกล็ด หรือเม็ด ซึ่งถ้าใช้ก่อนปลูกจะเป็นพิษกับพืช สารประเภทนี้ได้แก่คลอโรพิคริน (chloropicrin) เมธิลโบรไมด์ (methyl bromides) ดีเอ็มทีที( DMTT ) เอสเอ็มดีซี( SMDC ) เป็นต้น4.2 สารประเภทสัมผัสและดูดซึม การใช้สารประเภทนี้มักจะใช้หลังการปลูกพืช โดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อพืช สารบางชนิดพืชสามารถดูดซึมเข้าไปทางรากได้ บางชนิดไม่สามารถดูดซึมแต่สามารถฆ่าไส้เดือนฝอยเมื่อสัมผัสกับตัวไส้เดือนฝอย ยาประเภทนี้ได้แก่อัลดิคาร์บ (aldicarb) คาร์โบฟูแรน (carbofuran) เดมิตอน (demeton) ไดซัลโฟตอน (disulfoton) เป็นต้นสารเคมีที่ใช้ควบคุมไส้เดือนฝอยไม่ว่าจะอยู่ในรูปใดก็ตามมักจะใช้โดยการฉีด หรือหยอดลงไปในดิน การให้มักให้ลึกลงจากผิวดินประมาณ 6 นิ้ว ถ้าเป็นสารที่ระเหยเป็นก๊าซ ควรใช้ผ้าพลาสติกคลุมหน้าดินนานประมาณ 48 ชั่วโมง ก็จะทำให้ก๊าซกระจายและอบดินได้ทั่วถึง สำหรับยาน้ำมักจะใช้เครื่องฉีดยาน้ำ ( injectiongun) ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณน้ำยาและความลึกในการฉีดได้อย่างสม่ำเสมอตามที่เราต้องการ สรุป ไส้เดือนฝอยศัตรูของพืชเป็นสัตว์ประเภทที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีลำตัวขนาดเล็กมองเห็นด้วยตาเปล่าไม่ได้ต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ลักษณะลำตัวกลม ยาว ทางกระบอก ส่วนหัวโตและเรียวยาวไปทางส่วนหาง ไส้เดือนฝอยเพศเมียบางชนิดมีรูปร่างอ้วนกลมคล้ายลูกแพร์ ไส้เดือนฝอยศัตรูพืชทุกตัวจะมีหลอดดูดอาหารที่ช่องปากเพื่อใช้ในการเจาะดูดน้ำเลี้ยงจากพืช การขยายพันธุ์โดยการผสมพันธุ์ระหว่างไส้เดือนฝอยเพศผู้กับเพศเมีย แล้ววางไข่ ไส้เดือนฝอยเพศเมียบางชนิดสามารถวางไข่ได้โดยไม่ผ่านการผสมจากเพศผู้ จึงเป็นการผสมพันธุ์แบบพรหมจรรย์ ไข่ไส้เดือนฝอยฟักเป็นตัวอ่อน และเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ 4 ครั้ง กลายเป็นตัวเต็มวัยซึ่งใช้เวลา ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ไส้เดือนฝอยศัตรูพืชทำลายพืชโดยการใช้หลอดดูดอาหารแทงและดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืช ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากไส้เดือนฝอยผลิตฮอร์โมนส์ สารพิษ หรือน้ำย่อยชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสรีรวิทยา และทำให้เกิดอาการของโรคต่าง ๆ เช่น รากปุ่ม รากปม รากเป็นแผล รากเน่า รากกุด เมล็ดบวมเป็นก้อน เป็นต้น เนื่องจากไส้เดือนฝอยศัตรูพืชเคลื่อนที่ด้วยตัวเองช้ามาก ดังนั้นการแพร่ระบาดมักจะแพร่ไปโดยติดไปกับดิน ปุ๋ย เครื่องมือ และส่วนต่าง ๆ ของพืช
ตัวอย่างโรคสำคัญในประเทศไทย - ราน้ำค้างของข้าวโพด, แตง, องุ่น - ใบไหม้ของข้าว - โรคจู๋ของข้าว - ใบด่าง ใบขาวของอ้อย - โรคเหี่ยวเขียวของพืชตระกูลแตง - ราสนิมของถั่วเหลือง - ใบด่างของมะละกอ - โคนเน่า – ใบไหม้ของทุเรียน - ปัญหาอฟลาทอกซินในข้าวโพดและถั่วลิสง ฯลฯ 1.ไส้เดือนฝอยรากปม (Root-knot nematode)ไส้เดือนฝอยรากปมเป็นไส้เดือนฝอยที่พบแพร่หลายในหลายจังหวัดและมีพืชอาศัยมากที่สุด (มากกว่า 2,000 ชนิด) เมื่อเปรียบเทียบกับไส้เดือนฝอยชนิดอื่น พืชอาศัยที่ถูกทำลายเสียหายมากได้แก่ ข้าวฟ่าง ยาสูบ พริกไทย และไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิดลักษณะอาการ รากพืชที่ถูกไส้เดือนฝอยรากปมทำลายจะบวมและพองออก มักจะเกิดเป็นปมที่ปลายราก รากพืชไม่งอกยาวต่อไป พืชที่ถูกทำลายในระยะกล้าต้นจะแคระแกรน แต่ถ้าถูกทำลายเมื่อแก่จะทำให้ผลผลิตต่ำสาเหตุ เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne spp. ในประเทศไทยพบ 6 species คือ Meloidogyne arenia , M. graminicola , M. incognita , M. acrita M. javanica และ M. naesi ชีพจักร ไส้เดือนฝอยรากปมมีการเจริญเติบโตเป็นลำดับขั้นตอน ดังต่อไปนี้ระยะไข่ ไข่ไส้เดือนฝอยรากปมมีลักษณะกลมรี ผิวเรียบ ใส ขนาด 33-42 ไมครอน x 78-97 ไมครอนตัวอ่อนระยะที่ 1 ตัวอ่อนระยะนี้จะเกิดในไข่มีการลอกคราบภายในไข่ 1 ครั้ง กลายเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2ตัวอ่อนระยะที่ 2 ตัวอ่อนระยะนี้จะออกจากไข่แล้วอยู่ในดิน ระยะนี้เป็นระยะเดียวที่จะเข้าทำลายพืชได้ ตัวอ่อนเมื่อเข้าไปอยู่ในรากพืชจะเพิ่มขนาดและมีรูปร่างคล้ายไส้กรอก ไส้เดือนฝอยจะดูดกินน้ำเลี้ยงและสร้างน้ำลายไปกระตุ้นเซลล์พืชบริเวณนั้นให้มีขนาดโตขึ้น ทำให้ส่วนของพืชค่อย ๆ โตจนมีลักษณะเป็นปุ่มปม สุดท้ายมีการลอกคราบครั้งที่ 2 กลายเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3ตัวอ่อนระยะที่ 3 ไส้เดือนฝอยระยะนี้จะมีขนาดโตขึ้น และเซลล์พืชจะโตกว่าเดิม และจะมีการลอกคราบครั้งที่ 3 กลายเป็นตัวอ่อนระยะที่ 4ตัวอ่อนระยะที่ 4 ตัวอ่อนระยะนี้เริ่มมีความแตกต่างระหว่างเพศผู้ และเพศเมีย ไส้เดือนฝอยเพศผู้จะมีลักษณะขดงอคล้ายพยาธิ ในขณะที่เพศเมียมีลักษณะอ้วนป้อมกว่าเพศผู้ ตัวเต็มวัย ไส้เดือนฝอยเพศผู้จะลอกคราบครั้งที่ 4 กลายเป็นตัวเต็มวัยมีลักษณะเป็นเส้นยาว และออกจากรากพืชมีชีวิตอยู่อย่างอิสระ ส่วนไส้เดือนฝอยเพศเมียจะลอกคราบครั้งที่ 4 กลายเป็นตัวเต็มวัยที่มีลักษณะ อ้วนกลมคล้ายลูกแพร์ ตัวจะค่อย ๆ พองเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีไข่เต็มท้อง ไข่จะถูกวางออกมานอกลำตัวโดยมีเมือกห่อหุ้ม ไข่อาจจะผ่านการผสมจากเพศผู้หรือไม่ก็ได้ ตัวเต็มวัยเพศผู้มีขนาด 1.2-1.5 มม. X 30-60 ไมครอน เพศเมียมีขนาด 0.40-1.30 x 0.27-0.75มม.ชีพจักรของไส้เดือนฝอยรากปมอาจจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมปกติถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม(อุณหภูมิในดินประมาณ 27 องศาเซลเซียส) ไส้เดือนฝอยจะใช้เวลา 17-25 วัน แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำเพียง 15 องศาเซลเซียส อาจจะต้องใช้เวลาถึง 57 วัน จึงจะครบชีพจักร
2. ไส้เดือนฝอยรากแผล ( Root-lesion nematode ) ไส้เดือนฝอยรากแผลที่พบแพร่ระบาดมากก็คือ Pratylenchus spp สามารถเขาทำลายพืชอาศัยได้ไม่ต่ำกว่า 100 ชนิด ในพืชตระกูลหญ้า พืชผัก ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ และไม้พุ่มต่าง ๆ ลักษณะอาการ พืชที่ถูกทำลายแสดงอาการเหี่ยวในวันที่มีอากาศร้อนจัด ใบเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนในที่สุด ถ้าถอนพืชขึ้นมาจะถอนได้ง่ายเพราะระบบรากถูกทำลายหมด ไส้เดือนฝอยทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณเซลล์ชั้นคอร์เทกซ์ (cortex) ทำให้พืชเป็นแผลเล็ก ๆ สีน้ำตาล บางครั้งจะพบว่าเซลล์ชั้น คอร์เทกซ์ถูกทำลายเน่าตายหมด เหลือแต่แกนรากเท่านั้นสาเหตุ เกิดจากไส้เดือนฝอย Pratylenchus spp. ในประเทศไทยพบ 4 species คือ P. coffeae , P. zeae , P. brachyurus และ P. delattreiชีพจักร ไส้เดือนฝอยรากแผลเป็นปรสิตอยู่ภายในรากมีการเจริญเติบโตตามลำดับขั้นตอนต่อไปนี้ ระยะไข่ ไส้เดือนฝอยเพศเมียจะมีไข่เดี่ยว ๆ หรือเป็นกลุ่มภายในราก ไข่หลุดออกมาในดินเมื่อรากเน่าเปื่อย และจะถูกฟักเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ภายในไข่ ตัวอ่อนระยะที่ 1 จะลอกคราบครั้งที่ 1 กลายเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 และออกจากไข่ลงสู่พื้นดิน ตัวอ่อนระยะที่ 2 เคลื่อนที่อย่างอิสระในดิน และมักลอกคราบอีก 3 ครั้ง จึงจะเป็นตัวเต็มวัย ที่มีขนาด 0.4-0.7 x 20-25 ไมครอน ลำตัวเรียวยาว หัวใหญ่แข็ง เข้าทำลายพืชได้ตั้งแต่เป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 ถึงระยะตัวเต็มวัย ไส้เดือนฝอยสามารถออกจากแผลเก่าเข้าทำลายแผลใหม่ได้ การอยู่ครบชีพจักรต้องใช้เวลานาน 45-55 วัน
3. ไส้เดือนฝอยทำลายใบพืช ( Leaves nematode )ไส้เดือนฝอยชนิดนี้เป็นได้ทั้งปรสิตภายนอก และปรสิตภายในบนส่วนของต้นพืช ในประเทศไทยพบว่ามีการเข้าทำลายใบเบญจมาศ และใบข้าวลักษณะอาการ ในเบญจมาศ ไส้เดือนฝอยทำลายตา และส่วนเจริญของลำต้น ทำให้พืชเจริญเป็นพุ่ม มีข้อปล้องสั้น ใบที่เกิดจากตาที่ถูกทำลายจะมีขนาดเล็ก และบิดเบี้ยว ไส้เดือนฝอยดูดกินอยู่ภายนอกลำต้น และก้านใบ ส่วนที่บริเวณใบไส้เดือนฝอยจะดูดกินบริเวณชั้นมีโซฟีลล์ (mesophyll) ทำให้เซลล์ตาย เกิดเป็นจุดสีน้ำตาล แผลจะใหญ่ขึ้นและร่วงในที่สุด ส่วนอาการที่เกิดขึ้นกับใบข้าว ปลายใบข้าวจะแห้งเป็นสีขาวและคล้ำ ข้าวจะเตี้ยออกรวงสั้น และเล็ก แตกระแง้น้อย เมล็ดข้าวบิดเบี้ยว ผลผลิตลดลง 40-50 เปอร์เซ็นต์สาเหตุ อาการในใบเบญจมาศ เกิดจาก Aphelenchoides ritzema-bosi ส่วนในใบข้าวเกิดจาก Aphelenchoides besseyi ชีพจักร ตัวเต็มวัยมีลักษณะเรียว ยาว ขนาด 1 มม x 20 ไมครอน ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่ในช่องว่างระหว่างเซลล์ ฟักเป็นตัวอ่อน และเจริญเป็นตัวเต็มวัยที่ใบภายในเวลา 2 สัปดาห์ ไส้เดือนฝอยชนิดนี้จะไม่อยู่ในดิน แต่จะอยู่ข้ามฤดูในรูปของตัวเต็มวัยในใบพืชที่ตาย หรือในตาพืชที่เป็นโรค การแพร่ระบาดโดยว่ายน้ำไปกับน้ำที่คลุมอยู่บนลำต้นและใบ 4. ไส้เดือนฝอยรากกุด ( Trichodorus )ไส้เดือนฝอยประเภทนี้พบทำลายพืชในแหล่งปลูกพืชทั่วไป เช่น ข้าวโพด มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ถั่ว องุ่น ฯลฯลักษณะอาการ ตัวไส้เดือนฝอยเข้าทำลายปลายรากพืช ทำให้ปลายรากบวมพองขึ้นเล็กน้อย การเจริญของปลายรากจะถูกชงัก รากแขนงที่งอกออกมาใหม่ ๆ จะถูกไส้เดือนฝอยทำลายจนมีลักษณะสั้นกุด มีรากน้อย พืชแสดงอาการเหลืองทั้งต้น แคระแกรน พืชจะไม่ตายแต่ผลผลิตและคุณภาพลดลงสาเหตุ เกิดจากไส้เดือนฝอย Trichodorus christei เข้าทำลายชีพจักร ตัวเต็มวัยของไส้เดือนฝอยมีขนาด 0.65 มม. X 40 ไมครอน เป็นปรสิตภายนอก เข้าทำลายพืชโดยการเกาะกินบริเวณปลายรากโดยเกาะทำลายเซลล์ที่ผิวราก ไส้เดือนฝอยชนิดนี้วางไข่ในดินและฟักเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ 4 ครั้ง จึงเป็นตัวเต็มวัยซึ่งจะใช้เวลา 20 วันตั้งแต่ตัวอ่อนระยะที่ 2 จนถึงตัวเต็มวัยสามารถทำลายรากพืชได้ตัวอย่างโรคสำคัญในประเทศไทย - ราน้ำค้างของข้าวโพด, แตง, องุ่น - ใบไหม้ของข้าว - โรคจู๋ของข้าว - ใบด่าง ใบขาวของอ้อย - โรคเหี่ยวเขียวของพืชตระกูลแตง - ราสนิมของถั่วเหลือง - ใบด่างของมะละกอ - โคนเน่า – ใบไหม้ของทุเรียน - ปัญหาอฟลาทอกซินในข้าวโพดและถั่วลิสง ฯลฯ